นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการเพาะปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและได้ปริมาณตามที่ต้องการนั้น คือ การเลือกใช้พืชพันธุ์ดี มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมา พืชเศรษฐกิจหลายชนิดเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงพืชพันธุ์ดีได้ หรือมีปริมาณพืชพันธุ์ดีไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองขยายพันธุ์พืชจึงได้ดำเนินการผลิตและขยายพืชพันธุ์ดีครบทั้ง 4 วิธี ทั้งด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์พืชคุณภาพดี หลากหลายชนิด ราคาย่อมเยา พร้อมให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่
ผ่านศูนย์ขยายพันธุ์พืช ทั้ง 10 ศูนย์ ซึ่งตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี
สำหรับ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี มีพืชเด่นที่ดำเนินการเพาะพันธุ์และเปิดจำหน่ายอยู่หลายชนิด อาทิ อ้อยคั้นน้ำสุพรรณ 50 มะขามเทศสีชมพู มะนาวแป้นพวง กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง พริกหอมสุพรรณ ฯลฯ รวมทั้งสับปะรดสีซึ่งทางศูนย์ฯ ได้เน้นส่งเสริมการผลิตและขยายพันธุ์สับปะรดสีพันธุ์ดี โดยจัดทำเป็นจุดเรียนรู้การผลิตและขยายพันธุ์สับปะรดสี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสับปะรดสี สายพันธุ์สับปะรดสี การปลูก การดูแล การขยายพันธุ์ และปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสับปะรดสีให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมสับปะรดสีหลากหลายสายพันธุ์ถึง 7 สกุล
– สกุล Aechmea (แอคเมียร์) ที่มีจุดเด่นคือ มีลำต้นขนาดใหญ่ ใบใหญ่ และแข็ง ลักษณะใบตั้งขึ้น บางสายพันธุ์มีลวดลายบนใบ
– สกุล Ananas (อแนนัส) ซึ่งเป็นสับปะรดสีสกุลที่ปลูกเพื่อรับประทานผล ขอบใบมีหนาม สายพันธุ์ที่นำมาใช้เป็นไม้ประดับจะมีขนาดของผลที่เล็กกว่า และมีหลากหลายสีสัน
– สกุล Billbergia (บิลเบิร์กเกีย) กาบใบมีลักษณะซ้อนกันเป็นทรงกระบอกสูงดูคล้ายกรวย สามารถเก็บกักน้ำและทนแล้งได้ดี
– สกุล Cryptanthus (คริพแทนทัส) ใบมีลักษณะยาว โคนใบกว้าง ขอบใบหงิก ปลายใบแหลมเมื่อมองจากด้านบนของต้นจะมีลักษณะเป็นรูปดาว สามารถแตกหน่อที่โคนต้น และกาบใบ มีดอกสีขาวซ้อนภายในกาบใบ
– สกุล Neoregelia (นีโอรีจีเลีย) เป็นพืชอิงอาศัย ลำต้นสั้น กาบใบแผ่โอบรอบต้นเป็นรัศมี ปลายใบมน มีติ่งแหลม ขอบใบมีหนามแหลม มีสีสันหลากหลาย ดอกเป็นช่อกระจุกออกจากกึ่งกลางต้น
– สกุล Portea (พอรเทีย) ลำต้นสูงใหญ่ ใบยาวมีหนาม ชอบแสงแดดจัด ก้านดอกชูช่อตรง ดอกสีชมพูลาเวนเดอร์ ผลมีลักษณะคล้ายลูกเบอร์รี่ และ
– สกุล Tillandsia (ทิวแลนด์เซีย) ลักษณะทั่วทั้งต้นและแผ่นใบมีเกล็ดสีขาวที่เรียกว่า ไทรโคม (Trichome) ปกคลุมทำหน้าที่ดูดซับ
สำหรับเทคนิคการขยายพันธุ์สับปะรดสี ด้วยวิธีการแยกหน่อ (budding) ซึ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์สับปะรดสีที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด โดยมีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : คัดเลือกต้นที่มีหน่อโตขนาดประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของต้นแม่
ขั้นตอนที่ 2 : ใช้กรรไกรตัดกิ่งหรือมีดตัดแยกหน่อออกมาโดยตัดให้ชิดโคน จากนั้นทาปูนแดงหรือยากันเชื้อราบริเวณรอยตัด ทิ้งไว้ให้แห้ง
ขั้นตอนที่ 3 : นำหน่อสับปะรดสีไปปลูกในวัสดุปลูก ซึ่งวัสดุปลูกที่เหมาะสมคือ กาบมะพร้าวสับเล็ก โดยกาบมะพร้าวสับควรแช่น้ำไว้ 3 วันก่อนนำไปใช้เพื่อละลายสารแทนนิน (Tannin) ออกจากขุยมะพร้าวให้ได้มากที่สุด และควรเลือกใช้กระถางปลูกที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดของต้น ซึ่งหากขนาดของกระถางใหญ่เกินไป วัสดุปลูกจะมีความชื้นมากและระบายน้ำช้า
ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีความสนใจจะเข้าเรียนรู้วิธีการผลิตและขยายพันธุ์สับปะรดสีพันธุ์ดี หรือสนใจสั่งซื้อต้นสับปะรดสีพันธุ์ดี สามารถแวะเข้าไปเยี่ยมชมความงามของสายพันธุ์สับปะรดสีพันธุ์ต่างๆ โดยติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 035- 440-360 หรือ Facebook ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี