วันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ห้อง 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมกรมการพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นายวิฑูรย์ นวลนุกูล และนายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการสำนัก ศูนย์ฯ กอง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference ไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด 76 จังหวัด เพื่อกำกับ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานตามภารกิจกรมการพัฒนาชุมชนถึงไตรมาสที่ 2 อย่างเต็มที่ และไตรมาสที่ 3 ขอให้ทุกท่านดำเนินการตามแผนและงบประมาณที่ได้วางไว้ ขอเชิญชวนให้ทุกท่านดาวน์โหลดและลงทะเบียนการใช้งานระบบรับรองการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ด้วยแอฟพิเคชั่น (ThaiD) หรือไทยดี สิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัลสำหรับการยืนยันตัวตน เพื่อการทำธุรกรรมทางดิจิทัล ออกให้โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน โดยสามารถใช้แสดงบัตรประชาชนผ่านแอปฯ ได้ทันที ถือเป็นการยกระดับการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการให้บริการภาครัฐเพื่อประชาชน ให้จัดกลุ่มของหมู่บ้านที่ดำเนินการน้อมนำแนวพระราชดำริฯ ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร “กิจกรรมครัวเรือนปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย 10 ชนิด” และ “กิจกรรมทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เป็น 3 กลุ่ม คือ ดี ปานกลาง และพัฒนา ทั้งนี้ เพื่อให้หมู่บ้านที่อยู่ในกลุ่มดีให้เป็นแบบอย่างและเรียนรู้ของหมู่บ้านอื่น
ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้กลไกคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยมีการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและ UNDP เพื่อนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ โดยได้ไปเยี่ยมชมองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนเพื่อความยั่งยืนและเป็นภาคีเครือข่าย ของกระทรวงมหาดไทยในการบูรณาการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Agenda for Sustainable Development) ซึ่งด้วยภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนทุกเรื่องล้วนแล้วมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุกอย่าง เช่น การปลูกพืชผัก จึงขอให้ผู้ตรวจราชการกรมที่ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานดูเส้นทางหมู่บ้านไหนมีการปลูกพืชผักสวนครัว ให้ผู้ตรวจราชการกรมชื่นชมและนำเสนอในวาระการประชุมประจำเดือน ส่วนหมู่บ้านเส้นทางไหนยังไม่มีการปลูกพืชผัก ให้เร่งเข้าไปส่งเสริม พัฒนาการปลูกพืชผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งประเด็นการได้รับคำแนะนำการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. แจ้งการปิดตรวจสอบรายงานการเงินกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยที่ประชุมได้รายงานข้อตรวจพบการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารพัสดุ และด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยได้รับคำแนะนำการดำเนินโครงการให้ถูกต้อง เบิกจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบ ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งขอฝากให้พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ให้ตรวจสอบ ควบคุมการดำเนินงานโครงการให้ถูกต้องตามระเบียบ เช่น การดำเนินงานโคก หนอง นา ขอให้ทุกท่านรายงานการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยให้นำผลการประเมินพื้นที่ต้นแบบฯ พัฒนาต่อยอดการดำเนินงานแนวทาง 5P ให้มีการบูรณาการร่วมมือกับ 7 ภาคี ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ติดตามเยี่ยมชมแปลงพื้นที่ต้นแบบอย่างสม่ำเสมอ ใช้ครุภัณฑ์ในแปลง CLM ให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่า เป็นไปตามระเบียบ รวมถึงจัดทำป้ายโลโก้แสดงสัญลักษณ์พช. ให้สาธารณะชนได้ทราบ รวมถึงด้านการสื่อสารสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ให้แก่กรมฯ จึงขอฝากทุกท่านจัดทำโลโก้แสดงสัญลักษณ์ของ พช. ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ด้วย และฝากน้อง ๆ พัฒนากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการใช้เครื่องมือในการสื่อสารด้านต่างๆ ในพื้นที่ จัดทำคลิป หรือ live สด สร้างคอนเทนต์การขับเคลื่อนงานผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ใช้กลไกผู้นำการเปลี่ยนแปลง นักสื่อสารสังคม เป็นแนวร่วมในการประชาสัมพันธ์ แสวงหา influencer ในท้องถิ่นให้เป็นที่รับรู้ เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จการขับเคลื่อนงานของพี่น้องในพื้นที่ให้สาธารณะชนได้ทราบ โดยการทำงานขอให้ทุกท่านทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทำงานด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง หนักเอาเบาสู้ และแน่นอน ต้องรู้เนื้อหาข้อมูลงานให้ชัดเจน ซึ่งหากเราไม่รู้ก็ควรที่จะศึกษา หาข้อมูลให้ถูกต้อง รวมถึงการมีเครือข่ายในการช่วยเหลือเราในการขับเคลื่อนงาน และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่กรมการพัฒนาชุมชนได้รับรางวัล “หอเกียรติยศวุฒิสภา” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีการบริหารงานโดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมคนดี คนเก่ง คนกล้า จากการที่กรมฯ ดำเนินโครงการวันพัฒนาชุมชน 2565 ครั้งที่ 11 วาระครบรอบ 60 ปีกรม จึงขอขอบคุณพี่น้องที่ช่วยกันสร้างสรรค์งานพัฒนาชุมชน
ด้านนายวิฑูรย์ นวลนุกูล มอบแนวทางการดำเนินงาน เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงบประมาณให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ รวมถึงการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย เน้นย้ำให้มีการบันทึกข้อมูลในระบบ TPMAP Logbook ทุกครั้งที่มีการช่วยเหลือ กำชับให้ทีมปฏิบัติการบันทึกข้อมูล ข้อค้นพบตามความเป็นจริง สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการระดับประทศที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือ 1) กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน ไม่มีสวัสดิการ ตกเกณฑ์ชี้วัด จปฐ. 2) ครัวเรือเปราะบาง 3) กลุ่มคนสำรวจเพิ่มเติม 4) กลุ่มตกหล่นจาก TPMAP รวมถึง กลุ่มชาติพันธ์ และกลุ่มคนเร่ร่อน ซึ่งวันที่ 10 มีนาคม 2566 สภาพัฒน์ได้นำเข้าข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรมฯ ก็จะมีการซักซ้อมใช้ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวในการขับเคลื่อนความยากจนฯ ต่อไป และอยากให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย หากมีกรณีเพิ่มเติมให้ ศจพ. ระดับจังหวัด และอำเภอ ตรวจสอบความถูกต้อง ดำเนินการบันทึกข้อมูลใน TPMAP เพิ่มเติมให้เสร็จภายใน 30 กันยายน 2566 ต่อไป รวมถึงการฝึกอาชีพประชาชนพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ในการถ่ายทอดการฝึกอาชีพให้ครัวเรือนยากจนในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ไม่ว่าจะเป็นการทำอาชีพไข่เค็ม น้ำอ้อย ข้าวเกรียบ ลูกประคบ เป็นต้น เสริมสร้างทักษะและใช้ทรัพยากรที่มีในแต่ละครัวเรือนมาประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยกระบวนการสอนให้เขาตกปลา ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงการติดตามหนี้สตรี ขอชื่นชมจังหวัดที่ติดตามหนี้ได้เพิ่มขึ้น หลายจังหวัดหนี้ค้างชำระมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 28.69 ลงร้อยละ 26.88 จึงขอให้ทุกจังหวัดอำเภอเร่งรัดติดตามหนี้เกินกำหนดชำระและค้างชำระ และขอให้ทุกจังหวัดส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้กับกลไกการขับเคลื่อนการบริหารจัดการหนี้อย่างต่อเนื่อง
ด้านนายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเน้นย้ำว่า กรมฯ จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ลายดอกรักราชกัญญา” เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนการจัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ” ส่งกรมฯ ภายในวันที่ 20 มี.ค. 2566 จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทานฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 เม.ย. 2566 โดยขอให้จังหวัดประสานสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวในพระราชสำนัก รวมถึงขอให้ทุกจังหวัดรายงานยอดจำหน่าย “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ” ให้กรมฯ ทราบ ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 ตามแบบรายงานที่กรมฯ ได้ส่งให้ ซึ่งมีจังหวัดที่จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทานแล้วจำนวน 38 จังหวัด จึงขอให้จังหวัดที่ยังไม่ดำเนินการให้เร่งดำเนินการ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมกรมฯ ได้สรุปรายงานผลการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกรม การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผลการเบิกจ่ายภาพรวมงบประมาณตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผลการบริหารจัดการหนี้ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รายงานความก้าวหน้าการส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในหมู่บ้านโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) รายงานสรุปผลโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน การจัดทำฐานข้อมูล Big DATA ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. การจัดงาน OTOP ภูมิภาค และรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ