พช. ขึ้นเหนือเร่งขับเคลื่อน “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับภาค” เต็มรูปแบบ

วันที่ 27 มีนาคม 2566 เวลา 13.15 น. ณ โรงแรมน่านกรีนเลควิว รีสอร์ท อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับภาค” ครั้งที่ 3 ภาคเหนือ โดยมี นายชัยณรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้การต้อนรับ มี นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นายอาทร พิมชะนก ผู้ตรวจราชการกรม นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน รวมถึงภาคเอกชนและผู้แทน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ตลอดจนพัฒนาการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ รวม 51 คน ร่วมพิธีเปิด ซึ่งดำเนินการ 2 วัน ระหว่างวันที่ 27 – 28 มีนาคม 2566

นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายภารกิจจากรัฐบาลที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมาย คือ “สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและชุมชนเข้มแข็ง” ดำเนินการ 3 เรื่อง ประกอบด้วย การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน ซึ่งมีกลไกระดับจังหวัด ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พัฒนาการจังหวัดและหัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นเลขานุการร่วมบูรณาการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ และมีบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด 76 จังหวัด ที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท เป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนงานภายใต้แนวคิด Social Enterprise (SE) ซึ่งเป้าหมายหลักเพื่อสังคมมิใช่เพื่อกำไรสูงสุด

ทั้งนี้ รายได้หลักต้องมาจากการขายสินค้าและบริการ เช่น ให้คำปรึกษาแก่ชุมชน ไม่ใช่เงินจากรัฐหรือเงินบริจาค โดยกำไรที่ได้รับต้องนำไปใช้ขยายผลการดำเนินงาน ไม่ปันผล 100% และมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยกลไกประชารัฐ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านกิจกรรมตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยภาคีเครือข่าย และการเสริมสร้างรายได้ด้วยเครือข่ายเกษตรปลอดภัย

วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม และนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน บรรลุเป้าหมาย “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับภาคขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจข้อมูลและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

“การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ จะสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีทั้ง 7 ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคประชาชน รวมถึงด้านศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อเป็นพลังผลักดันให้กลไกประชารัฐทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถทำงานสอดประสานและบูรณาการการทำงาน จนสามารถสร้างรายได้และสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่สังคมได้ในที่สุด การขับเคลื่อนจำเป็นต้องรู้ทั้งข้อมูลด้านบวกและข้อมูลด้านลบ เพื่อให้เกิดการศึกษา Best Practice สามารถแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้ จะช่วยสนองเจตนารมณ์รัฐบาล ที่ได้ช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯ ขึ้น

เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการเพื่อดูแลชุมชน ดูแลจังหวัด จึงต้องรู้สุขภาพของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯ ทุกจังหวัด และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แม้ว่าในเชิงความยั่งยืน บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯ จะไม่แสวงหากำไร แต่ก็ต้องบริหารจัดการตนเองให้ได้ จึงจะมีกำลังดูแลชุมชนได้ ข้อเสนอหนึ่งก็คือ การจัดทำบทวิเคราะห์ ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 76 เล่ม โดยนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา วิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนา เพื่อปรับปรุงและหนุนเสริมให้บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯ มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และนำเอาตัวอย่างความสำเร็จไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับแต่ละพื้นที่

โดยจะได้มอบให้ไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แม้ว่าจุดอ่อนหนึ่งของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯ คือ การมีกฎระเบียบที่ห้ามไม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด ฯ แต่ในความหมาย คือ การให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปเป็นเสาหลัก ในฐานะพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา หรือเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการที่จะทำให้การบริหารจัดการของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯ เป็นไปได้ด้วยดี และสร้างความตระหนักว่า บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯ สามารถมีรายได้เท่าที่จำเป็น สำหรับใช้ในการบริหารจัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะยาวอย่างยั่งยืน ขอขอบคุณพัฒนาการจังหวัด ประธานบริษัทกรรมการผู้จัดการ (MD) และผู้แทนบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับภาค ในวันนี้” รองอธิบดีกล่าว

ต่อมาเวลา 14.45 น. รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะ ได้เดินทางไปยังวิสาหกิจชุมชนศูนย์กระจายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนน่าน ม.8 ตำบลถึมตอง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ เยี่ยมชมการดำเนินงานตำบลเข้มแข็ง ตลอดจนกิจกรรมและนิทรรศการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โดยมีพัฒนาการจังหวัดน่าน พัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ จนท.พช. และผู้นำชุมชน ให้ข้อมูลและให้การต้อนรับ