รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดกำลังพลชุดปฏิบัติงานช่าง ชุดช่างพัฒนา ปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งานขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ให้สามารถใช้น้ำ เพื่ออุปโภค – บริโภค บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้รับประโยชน์ จำนวน 204 ครัวเรือน ประชากร 403 คน ณ บ้านนาคำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 27 – 29 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 28,963 ล้าน ลบ.ม. (50%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 22,735 ล้าน ลบ.ม. (48%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,094 ล้าน ลบ.ม. (61%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,134 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,544 ล้าน ลบ.ม. (47%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 22,637 ล้าน ลบ.ม. (48%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 15,686 ล้าน ลบ.ม. (72%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,502 ล้าน ลบ.ม. (76%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดกิจกรรม “เยาวชนพลังร่วมและแนวร่วมบริหารจัดการน้ำ” หรือค่ายออนไลน์ ได้ Kick off ในวันน้ำโลก 22 มีนาคม 2566 ร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย The Children and Youth Council of Thailand โดยมีเยาวชนจากทุกภาคของประเทศเข้าร่วมประมาณ 250 คน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ และ Facebook Live ของ สทนช. โดยมีนักวิชาการของ สทนช. และภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาโมเดลและขับเคลื่อนการพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้ที่ได้มาตรฐาน และความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัดโดยเยาวชน