สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 มี.ค. 66

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.สตูล (13 มม.) จ.พระนครศรีอยุธยา (6 มม.) และ จ.ยะลา (6 มม.)

น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 28,963 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 22,733 ล้าน ลบ.ม. (48%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กอนช. ติดตามระดับน้ำแม่น้ำโขง ซึ่งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
• บริเวณสถานีวัดน้ำเชียงแสน จ.เชียงราย คาดว่าระดับน้ำลดลงทันทีประมาณ 0.6 – 0.8 ม. ในช่วงวันที่ 27 – 28 มี.ค. 66
• บริเวณสถานีวัดน้ำเชียงคาน จ.เลย คาดว่าระดับน้ำลดลงประมาณ 0.55 – 0.75 ม. ในช่วงวันที่ 28 – 29 มี.ค. 66
• บริเวณสถานีวัดน้ำหนองคาย จ.หนองคาย ถึง สถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี คาดว่าระดับน้ำลดลงประมาณ 0.55 – 0.75 ม.ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. – 2 เม.ย. 66

สทนช. ประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน
ด้วยพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ สทนช.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำ และรายการประกอบผังน้ำ โดยเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำผังเมือง จะนำข้อมูลไปประกอบการจัดทำผังเมือง ตาม พรบ. การผังเมือง ต่อไป

วันที่ 27 มีนาคม 2566 สทนช. จึงได้กำหนดจัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นประธานในการประชุม และนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นผู้แทน สทนช. ทั้งนี้ การประชุมฯ ครั้งนี้ สทนช. มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำลุ่มน้ำน่านที่ดำเนินการปรับปรุงจากข้อเสนอแนะครั้งที่ 2 เมื่อเดือน ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ ร่วมกันพิจารณา และรับคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อใช้ในการปรับปรุงร่างผังน้ำให้เกิดความสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ โดยทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการจัดทำผังน้ำ ทราบขอบเขตผังน้ำ เส้นทางน้ำ และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในระดับต่าง ๆ ตลอดจนรับทราบข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบเส้นทางน้ำที่ไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือกีดขวางการไหลของน้ำอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง – น้ำท่วม และใช้เป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในระดับลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ