กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 มีนาคม 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการใช้น้ำและสำรวจบ่อน้ำบาดาลเดิม บริเวณ ตำบลโพธิ์ตากและตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และ บริเวณ ตำบลนามะเขือ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม รวมถึงดำเนินการตรวจสอบและซ่อมบำรุงระบบประปาบาดาล ณ โรงเรียนเทศบาล 1 โคกสูง ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้นไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 29,283 ล้าน ลบ.ม. (52%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,022 ล้าน ลบ.ม. (48%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,134 ล้าน ลบ.ม. (62%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,135 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,651 ล้าน ลบ.ม. (48%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสหประชาชาติด้านน้ำ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2566 ณ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ความว่า “ความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่เชื่อมโยงระบบนิเวศ เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับทุกกิจกรรม ดังนั้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในประเทศและความร่วมมือของมิตรประเทศ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและต้องการ” สอดคล้องกับแนวคิดของสหประชาชาติที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อยกระดับการเข้าถึงน้ำสะอาดของทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคที่มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง