รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ติดตามผลการเจาะบ่อบาดาล ตามโครงการสำรวจและจัดทำแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาลสำหรับบริหารจัดการน้ำบาดาลพื้นที่แล้งซ้ำซากแอ่งหนองฝ้าย ณ บ้านท่าเยี่ยม ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี และติดตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บ้านปากชัดหนองบัว ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
1.2 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวง 3 หน่วยปฏิบัติการ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก อุดรธานี หนองคาย กาฬสินธุ์ น่าน และพื้นที่เหนือเขื่อนสิริกิติ์

2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้นไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 29,427 ล้าน ลบ.ม. (51%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,145 ล้าน ลบ.ม. (48%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,148 ล้าน ลบ.ม. (62%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,135 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,702 ล้าน ลบ.ม. (48%)

4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมชลประทาน และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวฯ จะช่วยสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการน้ำ โดยคำนึงถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ และใช้มาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป