กระทรวงยุติธรรม จัดงานเสวนาทางวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในหัวข้อ “132 ปี กระทรวงยุติธรรม ก้าวต่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริหารงานยุติธรรมของประเทศ”

วันที่ 23 มีนาคม 2566 นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาทางวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในหัวข้อ “132 ปี กระทรวงยุติธรรม ก้าวต่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริหารงานยุติธรรมของประเทศ” โดยมี นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นางสาวพัชรศรี ศรีเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมฯ ณ ห้อง Auditorium 10-09 อาคารกระทรวงยุติธรรม และผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)

สำหรับการเสวนาทางวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในหัวข้อ “132 ปี กระทรวงยุติธรรม ก้าวต่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริหารงานยุติธรรมของประเทศ” ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าที่ร้อยตรี ดร. ถวัลย์ รุยาพร กรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นวิทยากร

ดำเนินรายการเสวนาโดย นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. บทบาทของกระทรวงยุติธรรมในการบริหารงานยุติธรรมของประเทศในมุมมองของนักวิชาการและประชาชนทั่วไป 2. วิพากษ์กฎหมายใหม่ของกระทรวงยุติธรรม เช่น พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 3. ความเชื่อมั่น ความคาดหวัง และโอกาสของกระทรวงยุติธรรมในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริหารงานยุติธรรมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมควรมุ่งเน้นส่งเสริมหลักนิติธรรม ควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในเรื่องของ การลดโทษทางอาญา (โทษจำคุก) เปลี่ยนโทษอาญาเป็นโทษปรับ ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องโทษมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น คืนผู้ต้องโทษกลับสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรปรับวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษ อาทิ ควรมีการรับรองฝีมือและทักษะทางการปฏิบัติงานให้กับผู้ต้องโทษที่มีทักษะวิชาชีพที่ดี เน้นในเรื่องของการพัฒนาและแก้ไขพฤตินิสัยเป็นหลัก อีกทั้ง กระทรวงยุติธรรม ควรบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนกฎหมายใหม่ และควรจะมีการปรับกระบวนการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านค่าใช้จ่ายและด้านอื่น ๆ

ศาสตราจารย์ ธงทอง กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระทรวงยุติธรรมควรให้การช่วยเหลือประชาชนในทุกระดับอย่างแท้จริง ซึ่งกองทุนยุติธรรม ควรปรับการให้บริการแก่ประชาชนให้ได้รับความพึงพอใจอย่างเพียงพอและครบวงจร อีกทั้งควรคำนึงถึงค่าใช้จ่าย และระยะเวลาที่เกิดขึ้นในระหว่างคดีด้วย

ว่าที่ร้อยตรี ดร. ถวัลย์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์กฎหมายให้ประชาชนได้รับรู้และมีความรู้อย่างทั่วถึงนั้น จะทำให้ช่วยประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย ซึ่งควรบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่ออำนวยความยุติธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงยุติธรรมต้อง รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง โดยเข้าใจบริบทที่เป็นอยู่ในสังคม รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร จะต้องทำกฎหมายให้เกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง ทั้งนี้ควรคิดใหม่ พร้อมรับมือ และตื่นตัวอยู่ตลอด อีกทั้งปรับกรอบความคิดในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นการพัฒนา มุ่งเน้นประชาชนเป็นหลัก พร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่  เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง หน่วยงานภายในและภายนอก อีกทั้งให้คำนึงถึงผู้เสียหายในเรื่องของการดูแลอย่างจริงจังและครบวงจรต่อไป

นางพงษ์สวาท กล่าวว่า การทำงานของกระทรวงยุติธรรมสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกกระบวนงานในกระบวนการยุติธรรม หากมองไปถึงสถาบันการศึกษา ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาทางด้านกฎหมาย เราต้องปรับเปลี่ยนบทบาท เพื่อปรับนิติทัศนะและมุมมองของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ในเรื่องของการเรียนการสอน เปลี่ยนการเรียนรู้ด้านกฎหมาย การบริหารงานยุติธรรม การอำนวยความยุติธรรม คำนึงถึงผลลัพธ์ของการบังคับใช้กฎหมายว่าเกิดผลอย่างไรในสังคม หากสถาบันการศึกษาใดมีความประสงค์ให้กระทรวงยุติธรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว ทางกระทรวงฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง

“จุดแข็งของเรา ก็คือ การที่กระทรวงยุติธรรมมีบุคลากรที่มีความหลากหลายทางอาชีพ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการแทรกซึมอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อบูรณาการและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม มีความเข้มแข็ง และสามารถกำหนดทิศทางของกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้อย่างถูกต้องต่อไป” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว