วธ.มอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่”

วธ.มอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” -หลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำมุสลิมะห์ยุคใหม่” สร้างจิตสำนึก มีคุณธรรม จริยธรรม สร้างผู้นำยุคใหม่ นำความรู้ พัฒนาองค์กร ขับเคลื่อนสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 20 มีนาคม 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรและให้โอวาทแก่ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่” รุ่นที่ 6 ประจำปี 2566 และผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำมุสลิมะห์ยุคใหม่” รุ่นที่ 3 ประจำปี 2566

โดยมี นายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ผู้แทนจุฬาราชมนตรี นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี นายสำรวย นักการเรียน รองอธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหาร และผู้เข้าร่วมการอบรม เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ทั้งนี้ ผู้ผ่านการศึกษาอบรมได้มีส่วนช่วยเหลือชุมชน จังหวัด และภาคต่าง ๆ ของประเทศได้เป็นอย่างดี โครงการศึกษาอบรมทั้งสองหลักสูตร มีผู้ผ่านการศึกษาอบรมที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 48 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีแก่ผู้สำเร็จการอบรม และเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร องค์กร เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ แนวคิด ข้อตกลง ข้อยุติ ข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้รับการอบรม พัฒนาบุคลากรทางการสร้างจิตสำนึก มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้นำที่จะสานต่อการสร้างผู้นำยุคใหม่ นำความรู้ พัฒนาองค์กร ขับเคลื่อนสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการบริหารประเทศให้เกิดการปฏิรูปในทุก ๆ ด้านจึงได้บูรณาการการทำงานให้สอดรับกันมากขึ้น พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการปกครอง ซึ่งเป็นปัจจัยโครงสร้างของประเทศที่ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อพัฒนาความมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้เน้นในการบริหารตน บริหารคน รวมถึงการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งอยู่บนฐานของศาสนา ปรับใช้ในทุกมิติของการร่วมกันอย่างมีความสุข ความเข้าใจ ร่วมกันพัฒนาตั้งแต่ระดับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และระดับคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ซึ่งผลที่เป็นรูปธรรมคือผู้ผ่านการศึกษาอบรมหลายท่านได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการอิสลามประจำมัสยิด โดยผู้ผ่านการศึกษาอบรมทั้งผู้นำชาย และผู้นำสตรี ได้มีส่วนช่วยเหลือชุมชน จังหวัด และภาคต่าง ๆ ของประเทศ