สธ. และ อว. ร่วมขับเคลื่อน “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” แนวทางการดูแลสุขภาพใจให้นักศึกษาไทยทั่วประเทศ

วันที่ 22 มีนาคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงผลการดำเนินงานความสำเร็จ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” พร้อมกรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มร.) สร้างเครือข่ายเชิงรุกช่วยเหลือดูแลนักศึกษาอย่างครอบคลุมผลงานต้นแบบเชิงประจักษ์ต่อสังคม เพื่อความมั่นใจแก่เยาวชนและครอบครัว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ยกระดับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในทุกมิติ สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้อย่างถูกต้อง เป็นปัจจุบัน โดยร่วมมือกับเครือข่าย กระทรวงสาธารณสุขจึงสนับสนุนโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจฯ โดยกรมสุขภาพจิต ในการดูแลช่วยเหลือนักศึกษา มีผลสำเร็จของการดำเนินงานตามโครงการ พบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง มีโรงพยาบาลคู่เครือข่ายสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นคู่เครือข่าย จำนวน 51 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง มีโรงพยาบาลสังกัด สป. เป็นคู่เครือข่ายจำนวน 14 แห่ง ทั้งนี้มีแนวทางการส่งเสริมป้องกันและดูแลส่งต่อตามระบบสาธารณสุขที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ พร้อมมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณี เหตุวิกฤตของนักศึกษาอีกด้วย

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. มีภารกิจในการเตรียมคนไทย สู่ศตวรรษที่ 21 และนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ โดยมีนักศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศกว่า 2 ล้านคน การสร้างคน มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากที่มีคุณภาพ และการดูแลด้านสุขภาพจิตของนักศึกษาต้องควบคู่กันไป เพราะโรคทางจิตใจที่มีความรุนแรงจะส่งผลกระทบไม่แพ้โรคทางกาย ภายหลังจากการดำเนินงานร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด จึงเกิดผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยนักจิตวิทยาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดูแลระดับเบื้องต้นและเชิงลึกให้คำปรึกษาเป็นรายกรณีเฉพาะบุคคล แบบกลุ่ม แบบออนไลน์ และการส่งต่อดูแลรักษาต่อเนื่องที่เหมาะสม

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน พบว่า เยาวชนกลุ่มมหาวิทยาลัย (อายุ 19 -24 ปี) จำนวน 26,887 ราย มีความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 25.68 และมีความเครียดสูงร้อยละ 19.21 ซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเฉพาะที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด มีเพิ่มขึ้นตลอดช่วงวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ภายหลังดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ได้คัดกรองและดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาไปแล้ว จำนวน 23,740 ราย ในจำนวนนี้ไม่พบความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 18,066 ราย แต่ทว่าพบผู้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 5,235 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต (กลุ่มสีเหลือง) จำนวน 1,630 ราย

โดยขณะนี้มีจำนวนนักศึกษาที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตจนดีขึ้นแล้ว จำนวน 1,166 ราย อย่างไรก็ดีในกลุ่มนี้พบจำนวนนักศึกษาความเสี่ยงที่จำเป็นต้องส่งต่อให้แพทย์ดูแล (กลุ่มสีแดง) ทั้งสิ้น 439 ราย ซึ่งขณะนี้สุขภาพจิตดีขึ้นแล้ว จำนวน 232 ราย กระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือที่ดีขึ้นคณาจารย์มีระบบในการช่วยเหลือเป็นที่พึ่ง ทำให้ครอบครัวนักศึกษาอุ่นใจยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า ในภาพรวมของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดำเนินการดูแลสุขภาพกายและใจของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในลักษณะใกล้เคียงกัน วิเคราะห์ความต้องการและความเสี่ยงในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นอย่างมีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัย สร้างระบบและกลไกการดูแลนักศึกษาที่ชัดเจน โดยกำหนดแผนในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น ส่งบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้ารับการอบรมกับกรมสุขภาพจิต เปิดศูนย์ดูแลสุขภาพจิตนักศึกษา จัดโครงการอบรมที่หลากหลายในการเสริมสร้างสุขภาพจิต ภายหลังเข้าร่วมโครงการคู่เครือข่ายฯนี้ มีการใช้ MHCI ตรวจวัดทั้งนักศึกษาและอาจารย์ ทำให้ทราบถึงขนาดปัญหาสุขภาพจิต และนำไปสู่การจัดตั้งระบบให้คำปรึกษาและคณะกรรมการดูแลให้ครอบคลุม มีการอบรมอาจารย์จากผู้เชี่ยงชาญสุขภาพจิต และจัดกิจกรรมนักศึกษาได้พูดคุยกันมากขึ้น

ผศ.ไพบูลย์ หาญมนต์ ผู้แทนคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี มีแนวทางการจัดบริการให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ ผ่านทางคลินิกกำลังใจหรือ Mind Counseling RMUTT กองทุนสุขภาพนักศึกษา ที่เปิดให้บริการแก่นักศึกษาและบุคลากรมานานกว่า 5 ปี ภายใต้แนวคิด “ปกปิด-ปลอดภัย-เปิดใจ” ล่าสุดมีสถิติการเข้ารับบริการในปี 2565 และมีแนวทางการดูแลที่เน้นการป้องกัน

โดยนำระบบ MHCI เข้ามาใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น ให้คำปรึกษา และนำไปสู่การส่งต่อ อีกทั้งมทร.ตะวันออก จะมุ่งเน้นการประเมิน แบบเฉพาะของมทร.ตะวันออก เพื่อทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตและการประเมินพลังใจของนักศึกษา ในการจัดการปัญหาเบื้องต้น ก่อนจะส่งต่อเพื่อการดูแลเยียวยาขั้นถัดไป มทร.ธัญบุรี นำทีมและเป็นต้นแบบให้อีก 8 ราชมงคล มีการจัดการแข่งกีฬานักศึกษา, จัดให้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาเป็นวาระเร่งด่วนและจัดช่องทางต่างๆให้นักศึกษาประเมินตนเองให้ทราบภาวะเครียดและสุขภาพจิต เรียก Biofeedback และเข้าสู่ระบบการรักษาสาธารณสุข

“โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ด้วยความห่วงใยจาก สธ. และ อว.