ปศุสัตว์แจง พร้อมดันส่งออกไก่งวง ย้ำส่งเอกสารเกาหลีแล้วรออนุมัติเปิดตลาด

ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อออนไลน์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 โดยเนื้อหารายละเอียดระบุว่ามีเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงถูกข้าราชการสังกัดกรมปศุสัตว์ ข่มขู่คุกคาม โดยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและแจ้งว่าฟาร์มนั้นๆ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถส่งออกได้ และไม่อนุญาตให้เชือดไก่งวงที่โรงเชือดดังกล่าวด้วย

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 คุณศรีสุนันท์ พวงอินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี เป็นตัวแทนเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง ได้มาหารือกับกรมปศุสัตว์  เพื่อขอความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา เนื่องจากตนเองและเกษตรกรในเครือข่ายกำลังประสบปัญหาด้านการตลาด ทำให้มีไก่งวงที่เชือดชำแหละแช่แข็งค้างสต็อกอยู่ในห้องเย็นน้ำหนักประมาณ 40 ตัน และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายที่กำลังเลี้ยงและรอส่งเชือดชำแหละในหลายพื้นที่ จึงต้องการจำหน่ายให้กับบริษัทตัวแทนที่จะซื้อเพื่อส่งออกไปประเทศเกาหลี แต่ติดปัญหาที่เกาหลียังไม่เคยเปิดตลาดกับโรงงานในไทยมาก่อน ซึ่งการจะส่งออกเนื้อไก่งวงแช่แข็งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการเปิดตลาดและข้อกำหนดทางด้านสุขอนามัยของประเทศเกาหลี

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อไปว่า ทันที่รับทราบปัญหา กรมปศุสัตว์ ได้ให้คำแนะนำในการดำเนินการตามขั้นตอนการเปิดตลาดและการปฏิบัติให้มีมาตรฐานสอดคล้องข้อกำหนดด้านสุขอนามัย ของประเทศเกาหลี ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงที่ได้มาตรฐานฟาร์ม โรงเชือดชำแหละต้องมีมาตรฐาน GMP และ HACCP และต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากประเทศเกาหลี จนล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือแจ้งขออนุญาตส่งออกเนื้อไก่งวงสดแช่แข็งไปยังหน่วยงานกักกันพืชและสัตว์ (Animal and Plant Quarantine Agency : APQA) และกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา (Ministry of Food and Drug Safety : MFDS) ของสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อขอเปิดตลาดเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ต้องรอผลการพิจารณาอนุมัติจากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นจึงจะสามารถส่งออกได้

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ช่วยเหลือเพื่อหาตลาดเร่งด่วนเบื้องต้นให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง โดยได้เร่งประสานงานกับผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Petfood) เพื่อส่งเสริมให้มีการซื้อเนื้อไก่งวงสดนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เลี้ยงจากกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งการฝึกอบรม ส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า อาทิเช่น ไส้กรอก ไก่จ๊อ เป็นต้น  อีกทั้งกรมปศุสัตว์ยังได้ประสานเป็นการภายในกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอให้ช่วยหาตลาดในประเทศและตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศอื่นๆนอกจากประเทศเกาหลีอีกด้วย

“กรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า พร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด