กรม สบส.จัดสัมมนาพัฒนาศักยภาพบุคลากร ยกระดับร้านสปา นวดไทยเข้าแข่งขันในตลาดสากล

วันที่ 21 มีนาคม 2566 ณ อาคารกรม สบส. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. มอบหมายให้ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. เป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านบริการเพื่อสุขภาพด้วยบริการที่เป็นเลิศสู่มาตรฐานระดับสากล โดยมีผู้ประกอบกิจการ ผู้ดำเนินการ และผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจากทั่วประเทศ จำนวน 220 คน เข้าร่วม

ทพ.อาคมฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ ภาครัฐกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยกำหนดให้มีการพัฒนาส่งเสริมและต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มที่มีรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยกิจการสปาและนวดไทยซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยข้อมูลจากกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ปี 2565 เผยว่ามีกิจการสปา กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเสริมความงามที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรม สบส. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 10,077 แห่ง และมีผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทการนวดสปาที่ขึ้นทะเบียนแล้ว กว่า 190,000 คน

โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการได้รับรางวัล Thai World Class Spa จำนวน 31 แห่ง และมีสถานประกอบการที่ได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานดังกล่าวและได้รับรางวัล Nuad Thai Premium จำนวน 64 แห่ง ดังนั้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านบริการเพื่อสุขภาพ ในการให้บริการที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเท่าเทียมระดับสากล อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันประเทศไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ กรม สบส.จึงกำหนดจัดการสัมมนาฯ ในวันนี้ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมการท่องเที่ยว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมาคมสปาไทย สมาพันธ์เอเชียแปซิฟิกสสปาแอนด์เวลเนส และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มาร่วมให้ความรู้ทั้งในด้านการบริการ และทักษะการปฐมพยาบาล การส่งต่อกรณีฉุกเฉินแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา

ทพ.อาคมฯ กล่าวต่อว่า การให้บริการที่เป็นเลิศ เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความยั่งยืน มั่นคงในธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ การพัฒนาการบริการสู่มาตรฐานระดับสากลเป็นการยกระดับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศษฐกิจให้มั่นคง ตามนโยบายนำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Health for Wealth) ซึ่งการที่สถานประกอบการเพื่อสุขภาพจะเข้าสู่มาตรฐานระดับสากลได้นั้น ผู้ประกอบกิจการจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและประเมินตนเองอย่างต่อเนื่อง ตามเกณฑ์มาตรฐาน 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย

1. ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม

2. ด้านบุคลากร

3. ด้านการบริการ

4. ด้านผลิตภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์

5. ด้านการบริหารจัดการองค์กร

การติดตามและประเมินผล ซึ่งการรักษาคุณภาพ และมาตรฐานตามเกณฑ์ข้างต้นจะช่วยส่งเสริมคุณภาพการบริการ และสร้างความประทับใจต่อการให้บริการครบทั้ง 5 มิติ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส อันจะนำมาซึ่งชื่อเสียงอันดีต่อสถานประกอบการเพื่อสุขภาพไทย และดึงดูดให้ผู้รับบริการทั้งชาวไทย และต่างชาติชื่นชม บอกต่อและกลับมารับบริการอย่างต่อเนื่องต่อไป