กฟผ. ผนึกกำลัง ชุมชนบ้านหน้าทับ เดินหน้าพลิกฟื้นระบบนิเวศชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช หลังประสบความสำเร็จพื้นที่ป่า สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น

กฟผ. ร่วมกับ ชุมชนบ้านหน้าทับ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และภาคีเครือข่าย เดินหน้าปลูกป่าชายเลนและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ หลังประสบความสำเร็จพื้นที่ป่าชายเลนและจำนวนสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ช่วยคืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่ง ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างอาชีพเพิ่มรายได้

วันที่ 26 มิถุนายน 2562 นายชัยศักดิ์ สุจริตพนารักษ์ ปลัดอาวุโส อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “พลิกฟื้น คืนผืนป่าชายเลน สู่ธรรมชาติ” ร่วมกับชาวบ้านชุมชนบ้านหน้าทับ นายสมชัย ชัยโรจน์นิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปลูกป่าชายเลน และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลน ณ บ้านหน้าทับ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

นายศานิต นิยมาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า กิจกรรม “พลิกฟื้น คืนผืนป่าชายเลน สู่ธรรมชาติ” ที่บ้านหน้าทับ จ.นครศรีธรรมราช เป็นกิจกรรมที่ กฟผ. ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีปัญหาถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง จำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนป้องกันการกัดเซาะและฟื้นฟูระบบนิเวศตามหลักวิชาการ โดยพบว่า หลังจาก กฟผ. ร่วมกับ ชุมชนบ้านหน้าทับ และภาคีเครือข่าย ปลูกป่าชายเลนในดินเลนงอกใหม่จำนวน 5 ไร่ เมื่อปี 2561 ต้นโกงกางมีอัตราการรอดสูงถึงร้อยละ 80 ทำให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น สามารถช่วยบรรเทาการกัดเซาะของน้ำทะเล รวมถึงจำนวนสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย ในปี 2562 กฟผ.

จึงดำเนินการปลูกกล้าไม้โกงกางใบใหญ่ จำนวน 3,600 ต้น ในดินเลนงอกใหม่ต่อจากพื้นที่เดิมอีกจำนวน 5 ไร่ โดยจะปลูกกล้าไม้ในดินที่มีความเหนียวมากก่อนเพื่อให้รากสามารถยึดเกาะได้แล้วจึงค่อยๆ ปลูกขยับออกไป ระหว่างการปลูกจะปักไม้ไผ่ขนาด 1.5 – 2 เมตร ผูกติดกับกล้าไม้ ช่วยพยุงไม่ให้ต้นกล้าหลุดลอยขณะถูกคลื่นซัด พร้อมทั้งปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ได้แก่ ลูกปลากะพง จำนวน 3,000 ตัว และลูกกุ้งกุลาดำ จำนวน 200,000 ตัว โดย กฟผ. จะปลูก 1 ปี บำรุงต่อเนื่องอีก 2 ปี จากนั้นจะส่งมอบให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ (บ้านหน้าทับ) ร่วมดูแลรักษาป่าชายเลน และบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการขยายผลสู่พื้นที่ใกล้เคียงต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากพื้นที่ป่าชายเลนและสัตว์น้ำจะมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนบ้านหน้าทับยังต่อยอดผลผลิตจากป่าชายเลนเป็นสินค้าของชุมชน อาทิ ชาใบโกงกาง ซึ่งมีสรรพคุณทางยา ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ความดัน ครีมบำรุงผิวใบโกงกาง ที่ช่วยบำรุงผิวให้มีความชุ่มชื้น ผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากโคลน ผ้ามัดย้อมจากรากโกงกาง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนซึ่งได้รับความนิยมแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 6,000 – 7,000 บาท ต่อเดือน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และนำมาสู่ความหวงแหนในการการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างยั่งยืน