พม. ดึงภาควิชาการ จับชีพจรพรรคการเมืองกับนโยบายทางสังคม มุ่งยกระดับการคุ้มครองคนทุกช่วงวัย

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมเวทีเสวนาทางนโยบาย (Policy Dialogue) หัวข้อ “ทิศทาง พม. ท่ามกลางกระแสนโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคม” กับคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ เพื่อระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายตามบทบาทภารกิจของกระทรวง พม. ณ โรงแรม เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก กรุงเทพมหานคร

นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวง พม. ให้ความสำคัญต่อการยกระดับระบบการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยเพื่อเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในยุค VUCA World ที่สังคมมีความซับซ้อนและไม่แน่นอน รวมถึงปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB พบว่าค่าใช้จ่ายของประเทศไทยด้านการคุ้มครองทางสังคมเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อยู่ที่ 5.1% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 7.5% ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ 24% สำหรับประเทศที่มีรายได้สูง นอกจากนี้ แผนงาน/โครงการด้านการคุ้มครองทางสังคมในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นแบบพุ่งเป้า (Targeting) จึงทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องของการตกหล่น (Exclusion error) “คนที่จนจริง แต่ไม่ได้การคุ้มครอง” และการรั่วไหล (Inclusion error) “คนที่จนไม่จริง แต่ได้รับสวัสดิการ” ดังนั้น การยกระดับการคุ้มครองทางสังคมให้ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ จึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและการผลักดันจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคการเมือง ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมประชาคม

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า วันนี้ เวทีเสวนามีการหารือและให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่หลากหลายต่อทิศทางของกระทรวง พม. ในการพัฒนานโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย โดยคำนึงถึงทิศทางและแนวโน้มของการจัดทำนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ ประเด็นเชิงนโยบายที่มีการหารือครอบคลุม 3 ด้าน คือ 1) ข้อเสนอนโยบายด้านเด็ก ได้แก่ การดูแลแม่และเด็กตั้งแต่ 270 วันแรกของชีวิต 2) ข้อเสนอนโยบายด้านวัยแรงงาน ได้แก่ การเพิ่มเบี้ยความพิการ และ 3) ข้อเสนอนโยบายด้านผู้สูงอายุ ได้แก่ ระบบบำนาญถ้วนหน้า

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. จะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากเวทีเสวนาครั้งนี้ ไปประมวล วิเคราะห์ และปรับปรุงข้อเสนอนโยบายสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ประกอบการพิจารณาประกาศเป็นนโยบายของกระทรวง พม. เพื่อยกระดับการคุ้มครองทางสังคมให้เป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม