กรมทะเลชายฝั่ง สำรวจสัตว์ทะเลหายาก ชายฝั่งทะเลชลบุรี และสุราษฎร์ธานี พบโลมาและวาฬอุดมสมบูรณ์ วอนประชาชนร่วมอนุรักษ์ ลดภัยคุกคาม

วันที่ 18 มีนาคม 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงการสำรวจสัตว์ทะเลหายากในห้วงวันที่ 13-17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก ได้สำรวจประเมินสถานภาพและตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดชลบุรี โดยวิธีการสำรวจทางเรือ รูปแบบ Line transect ระยะทางประมาณ 101 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 260 ตารางกิโลเมตร เพื่อประเมินชนิด จำนวนประชากร ภัยคุกคาม และตรวจสุขภาพ พบโลมาหัวบาตรหลังเรียบ จำนวน 1 ตัว ห่างจากฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร และวาฬบรูด้า จำนวน 2 ตัว ห่างจากฝั่งประมาณ 5.5 กิโลเมตร มีพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหาร หากินตามปกติ พบที่ระดับความลึกของน้ำ 11.2 เมตร คุณภาพน้ำความเป็นกรด – ด่าง เท่ากับ 7.9 อุณหภูมิน้ำ 27.8 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ 6.52 มิลลิกรัมต่อลิตร ความเค็ม 30.0 พีพีที

ส่วนพื้นที่ชายฝั่งอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร ได้สำรวจประชากรและตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายากโดยวิธี Photo ID พบโลมาอิรวดี จำนวน 1 ฝูง จากการประเมินด้วยสายตา มีจำนวนประชากรประมาณ 10 ตัว พบอยู่บริเวณใกล้เกาะริกันและท่าเรือดอนสัก พฤติกรรมว่ายน้ำเดินทาง และพบโลมาหลังโหนก จากการประเมินด้วยภาพถ่าย Photo ID สามารถจำแนกได้ประมาณ 14 ตัว อยู่รวมกันเป็นฝูง 2-7 ตัว จำนวน 3 ฝูง พบอยู่บริเวณชายฝั่งท่าเรือซีทราน ท่าเรือราชา ท่าเรือดอนสัก และเกาะริกัน พฤติกรรมภายในฝูงมีการหาอาหาร เลี้ยงดูลูก เล่นหยอกล้อ จากการตรวจสุขภาพ​โลมาหลังโหนก​ พบว่าสุขภาพของโลมาอยู่ในเกณฑ์​สมบูรณ์​ อัตราการหายใจอยู่ระหว่าง​ 5 -​ 10 ครั้ง​/ 5 นาที​ โดยลูกแรกเกิดจะมีอัตราการหายใจเร็วกว่าตัวเต็มวัย​ แต่พบบาดแผลที่เกิดจากฟันของโลมาตัวอื่นในฝูง​ โดยเฉพาะลูกแรกเกิด​ที่พบแผลสดบริเวณช่องท้อง​ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการพยุงเพื่อขึ้นหายใจจากโลมาตัวอื่น​

นอกจากนี้ ในระหว่างการสำรวจยังพบขยะ โดยเฉพาะบริเวณปากคลองดอนสัก​ ซึ่งอาจส่งผลรบกวนโลมาได้​ อีกทั้งยังพบการวางอวนอยู่ใกล้แนวชายฝั่งบริเวณที่โลมาหากิน​ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเครื่องมือประมง จึงขอให้ชาวประมง ชุมชนชายฝั่ง พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ ไม่ทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บของสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทย อันจะนำไปสู่ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยั่งยืนต่อไป “นายอภิชัยกล่าว