พช. จับมือ ธปท.และ14 หน่วยงาน สร้างความร่วมมือทางด้านข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรไทย

วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย ร่วมกับ 14 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลที่สามารถสะท้อนสถานะหนี้และศักยภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกรจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่สำคัญของประเทศ อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษา และสร้างความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ในการให้ผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการเงินสามารถนำไปใช้ออกแบบและผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยมี นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานพิธี ในการนี้ ร.ต.อ. เขตรัฐ ชาญศิลป์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน นางสาวญาดาภา หอมหวล ผู้อำนวยการกลุ่มงานช่วยอำนวยการและประสานราชการ รักษาราชการแทน เลขานุการกรม พช. และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธี

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า “กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจด้านการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเสมอภาคทางสังคม โดยการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องการแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากและแผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย โดยใช้ข้อมูลจาก TPMAP ซึ่งเป็นการนำข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่จัดเก็บโดยกรมการพัฒนาชุมชน กว่า 12.9 ล้านครัวเรือน และข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง มาชี้เป้าการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุด ให้ครอบคลุมทุกปัญหา การลงนามในวันนี้ถือว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน พช. หน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เพียงลำพัง ดังคำที่ว่า “ไปคนเดียวไปได้เร็ว แต่ถ้าจะไปให้ไกลต้องไปด้วยกัน” ที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ผ่านโครงการสำคัญ เช่น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่เห็นเป็นรูปธรรมได้แก่ ดอยกอยโมเดล เพื่อส่งเสริมอาชีพด้านทอผ้า จากอดีตชาวบ้านมีรายได้จากการทอผ้าเดือนละ 700 บาทต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันได้มีการจัดตั้ง วิชชาลัยดอนกอยวิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ณ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนในชุมชนบ้านดอนกอย ชุมชนใกล้เคียง และผู้ที่สนใจ เพื่อทำให้ผ้าไทยเป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนและเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีของชาวบ้านดอนกอย กรมการพัฒนาชุมชน มีความยินดี และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมลงนามในวันนี้”

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ให้ร่วมกันผลักดันการสร้างรากฐานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาฐานข้อมูลร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อสะท้อนทั้งในมิติของหนี้สินรวมของครัวเรือน พฤติกรรมการชำระหนี้ และศักยภาพในการชำระหนี้ในระดับครัวเรือนเกษตรกร โดยฐานข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรที่จะนำมาเชื่อมโยงกันภายใต้ความร่วมมือนี้ ประกอบไปด้วย ฐานข้อมูลหนี้สินและทรัพย์สินของครัวเรือนจาก ธ.ก.ส. สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ปศุสัตว์ ประมง และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย ฐานข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพในการทำเกษตร เช่น การจดทะเบียนมาตรฐานสินค้าและการทำเกษตรอินทรีย์จากกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ฐานข้อมูลที่สะท้อนโครงสร้างอาชีพ รายได้ และความยากจนในหลายมิติของเกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจากสำนักงานปลัดการทรวงการคลัง ฐานข้อมูลรายได้และสวัสดิการจากกรมการพัฒนาชุมชน และฐานข้อมูลความเหมาะสมในการทำการเกษตรจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดย ธปท. จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการข้อมูล และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะช่วยให้คำปรึกษาและสนับสนุนเพื่อให้การใช้ประโชน์จากข้อมูลร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูลที่ดี และสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือครั้งนี้จะมีประโยชน์กับหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการเงินในการผลักดันแนวทางในการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างเป็นองค์รวม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์กลับไปสู่ครัวเรือนเกษตรกรในวงกว้าง ได้แก่

1.  การใช้ข้อมูลในการศึกษา ออกแบบและผลักดันแนวทางการแก้หนี้เดิมที่สามารถช่วยให้ครัวเรือนชำระหนี้ได้มากขึ้นและสามารถปลดหนี้ได้ในระยะยาว

2. การใช้ข้อมูลในการออกแบบแนวทางการปล่อยหนี้ใหม่อย่างยั่งยืน ทั่วถึง ตอบโจทย์ และตามข้อมูลความเสี่ยงที่แท้จริงของครัวเรือน

3. การใช้ข้อมูลในการออกแบบแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกัน ความรู้ทางการเงิน และการผสานการแก้หนี้กับโครงการเพิ่มรายได้และศักยภาพของครัวเรือนเกษตรกร นอกจากนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญของการสร้างความร่วมมือทางด้านข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายสาธารณะอีกด้วย