การควบคุมค่าความเค็ม ในช่วงฤดูแล้งปี 65/66

Featured Video Play Icon

วันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง นาย รณชัย ศรีรอดบาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง ได้ลงพื้นที่ติดตาม การควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง ฤดูแล้ง ปี 65/66 ว่า กรมชลประทานได้กำหนดมาตรการในการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง โดย สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้มีแผนการควบคุมความเค็มและแผนการระบายน้ำเพื่อชะลอความเค็มในลุ่มน้ำบางประกงในช่วงฤดูแล้ง ปี65/66 โดยกำหนดจุดควบคุมความเค็มเพื่อเฝ้าระวังค่าความเค็มที่สถานีโทรมาตร โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ระยะทาง 35 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ เริ่มควบคุมบานเขื่อนบางปะกง และระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ เมื่อมีค่าความเค็มที่จุดนี้มีค่า 1 กรัมต่อลิตร และควบคุมไม่ให้ค่าความเค็มแต่ละจุดเฝ้าระวังเกิน 1 กรัมต่อลิตรตามช่วงเวลา ได้แก่

จุดควบคุมที่ 1 เขื่อนทดน้ำบางปะกง ระยะทาง 66 จากปากแม่น้ำ

จุดควบคุมที่ 2 ประตูระบายน้ำบางขนาก ระยะทาง 109 จากปากแม่น้ำ

จุดควบคุมที่ 3 วัดบางแตน ระยะทาง 115 จากปากแม่น้ำ

จุดควบคุมที่ 4 จุดสูบน้ำการประปาส่วนภูมิภาค สาขาปราจีนบุรี ระยะทาง 170 จากปากแม่น้ำ

จุดควบคุมที่ 5 ประตูระบายน้ำหาดยาง ระยะทาง 184 จากปากแม่น้ำ

แผนการระบายน้ำในแต่ละช่วงเวลาจากอ่างเก็บน้ำ จำนวน 6 แห่ง ( อ่างฯ คลองสียัด , อ่างฯ คลองระบม , อ่างฯ ขุนด่านปราการชล , อ่างฯ พระสทึง , อ่างฯ พระปรง และ อ่างฯ นฤบดินทรจินดา) รวม 352.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และ ระบายน้ำจากทุ่งเพาะปลูก 3 แห่ง ( ทุ่งบางหอย ทุ่งสารภี และ ทุ่งท่าแห ) รวม 88.7 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้เริ่มการบริหารเขื่อนทดน้ำบางปะกง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 โดยเป็นการควบคุมบานแบบระยะที่ 1 กล่าวคือ ในช่วงน้ำขึ้นสูงสุด ณ เขื่อนบางปะกง และทิศทางการไหลของน้ำเริ่มจะไหลลง จะทำให้การหรี่บานเขื่อนทั้ง 5 บาน โดยหรี่ให้มีช่องว่างระหว่างธรณีและท้องบานไม่ให้ต่ำกว่า 2 เมตร เพื่อเป็นการกักน้ำจืดทางด้านเหนือเขื่อน และในช่วงที่น้ำลงต่ำสุดและกำลังขึ้น จะทำการยกบานขึ้นเพื่อให้น้ำดันน้ำจืดกลับไป และทำให้ระดับน้ำสามารถเข้าสู่คลองสาขาได้ตามธรรมชาติ ปัจจุบันค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกงเป็นไปตามแผน

การแก้ปัญหาน้ำเค็มในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง สำนักชลประทานที่ 9 โดยใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงควบคุมและชะลอความเค็มพร้อมกับกักน้ำจืดไว้เหนือเขื่อน เพื่อทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค แม่น้ำบางประกงจะมีน้ำเค็มรุกเข้ามาในลำน้ำ สลับเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และ น้ำเค็ม บางปีประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำจืดน้อยส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเค็ม กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง จึงต้องทำงานอย่างรอบคอบและเตรียมพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเค็มรุกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการรักษาคุณภาพน้ำ ของแม่น้ำบางปะกง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยมีการบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทานให้สอดคล้องกับจังหวะน้ำทะเลหนุนอย่างเหมาะสมตลอดช่วงฤดูแล้งปี 65/66 นี้

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเค็ม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกงจึงได้พัฒนาระบบเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำเค็ม ที่มีความละเอียด สามารถดูข้อมูลปัจจุบันและย้อนหลังได้ อีกทั้งยังเป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำในอนาคตต่อไป