รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินโครงการปรับปรุงขยายขอนแก่น-น้ำพอง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาอุดรธานี – หนองคาย – หนองบัวลำภู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อพื้นที่ที่ประสบปัญหา

2. สภาพอากาศ
หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 31,335 ล้าน ลบ.ม. (54%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 24,795 ล้าน ลบ.ม. (52%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,402 ล้าน ลบ.ม. (67%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,137 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9,322 ล้าน ลบ.ม. (51%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 24,670 ล้าน ลบ.ม. (52%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 13,639 ล้าน ลบ.ม. (62%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,692 ล้าน ลบ.ม. (66%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดการสัมมนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้โครงการจัดการความรู้ด้านน้ำบาดาล (Groundwater Knowledge Management: KM) ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การจัดการฐานข้อมูลด้านน้ำบาดาล” ณ ห้องประชุมกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ชั้น 8 อาคาร 1 เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับบุคคลและองค์กรเพื่อขับเคลื่อนองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดำเนินการจัดทำคลังข้อมูล องค์ความรู้ และระบบสารสนเทศเพื่อการอนุรักษ์น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน