อธิบดี พช. บรรยายพิเศษในหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.) รุ่นที่ 11 หัวข้อ “กระบวนการมีส่วนร่วมกับการเริ่มต้นโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ”

วันที่ 11 มีนาคม 2566 นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นวิทยากรบรรยายในหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.) รุ่นที่ 11 ในหัวข้อ “กระบวนการมีส่วนร่วมกับการเริ่มต้นโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ” ณ ห้องประชุมหนุมาน ชั้น 1 อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เชิงสะพานพระราม 8 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขันเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

โดยโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.) รุ่นที่ 11 จัดอบรมระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 26 เมษายน 2566 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารส่วนราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 50 คน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับสำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 10 และจัดตั้งกรมการพัฒนาชุมชนขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ภารกิจในระยะแรกของกรมการพัฒนาชุมชน คือ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและการพัฒนาตนเอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าพัฒนากรต้องทำงานกับประชาชน มิใช่ทำให้ประชาชน ปัจจุบันวิสัยทัศน์กรมฯ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ยึดหลักการเริ่มจากสิ่งที่ประชาชนเป็นอยู่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ ให้สามารถพัฒนาชุมชนของตนเอง ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งแก่นแท้ของการพัฒนาชุมชน คือ กระบวนการส่งเสริม สนับสนุนประชาชน ให้สามารถพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของคนในชุมชน ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ตระหนักรู้ รับรู้ มีโอกาสเข้ามาแสดงบทบาท ทัศนคติและความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนา ตลอดจนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาชุมชนของตนเอง

กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการขับเคลื่อนงานภารกิจที่สำคัญต่าง ๆ สนองพระราชดำริและพระดำริ ทั้งโครงการ 9 ; 10 ปฏิบัติบูชาสืบสาน รักษา ต่อยอดเพื่อพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยและสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริฯ นำมาเป็นกลไกเสริมพลังการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีระเบียบวิธี กฎเกณฑ์ในการคัดเลือกเป็นไปเพื่อการเอื้ออำนวยสร้างแรงใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาศักยภาพชุมชน ตลอดจนกระบวนการวิจัยพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ไม่ใช่การแข่งขันมุ่งหาผู้ชนะ แต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาคุณค่าของผู้ที่เป็นเลิศ การเป็นต้นแบบในการผลักดันในการขยายผล หนุนเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นการเสริมพลังการพัฒนาที่ยั่งยืน

อีกทั้งได้พระราชทานพระราชดำรัสจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จำนวน 6 แห่ง ตามหลักสำคัญของการพัฒนาคือการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภูมิสังคม โดยมีส่วนงานพัฒนาชุมชนในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีภารกิจด้านการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ตามแนวทางส่งเสริมศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริสู่วิถีชีวิตประชาชน รวมถึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทุนชุมชน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ดำเนินงานและจังหวัดขยายผลในเขตภาคกลาง และภาคตะวันออกรวม 11 จังหวัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี และจังหวัดชัยนาท และประชาชนทั่วไป

รวมถึงโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งในปี พ.ศ. 2560 กรมฯ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต เข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ได้กำหนดพื้นที่ที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริ จำนวน 16 แห่ง ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ ในการรักษาภูมิปัญญาและอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืช ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากร ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืชภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากร ตลอดจนมีการจัดระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม/โครงการ อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังพระราชดำรัสที่ว่า “การรักทรัพยากร คือ การรักชาติ รักแผ่นดิน”

ในวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี กรมการพัฒนาชุมชนได้มีการจัดกิจกรรมการทอดผ้าป่าสมทบ “กองทุนพัฒนาเด็กชนบท ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยแก่เด็กชนบท ก่อนวัยเรียนตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ในการช่วยเหลือ สนับสนุนการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่ครอบครัวยากจนและด้อยโอกาส ซึ่งกองทุนพัฒนาเด็กชนบทส่วนกลางได้มอบทุนช่วยเหลือเด็กก่อนวัยเรียนที่ยากจนและด้อยโอกาสมาแล้วไม่น้อยกว่า 117,431 คน เป็นเงิน 143,769,200 บาท

และน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร กรมการพัฒนาชุมชนได้มีการขับเคลื่อนงาน “กิจกรรมครัวเรือนปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย 10 ชนิด” โดยมีครัวเรือนปลูกผัก คิดเป็น ร้อยละ 99.90 (14,547,445 ครัวเรือน) “กิจกรรมทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” จำนวน 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 100 ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่ายในครัวเรือน และนำความรู้ไปสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

ด้านการพัฒนาหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการ พัชรสุธาคชานุรักษ์ ซึ่งในปีพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ5 จังหวัด ในภาคตะวันออก ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งแปลว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” ในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์ เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ รวมทั้งพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิต

รวมถึง โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญการขับเคลื่อนโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนและสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทยอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินมีการผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการสนองงาน สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ที่กำลังจะสูญหาย ให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดีให้กับช่างทอผ้า และครอบครัวอย่างยั่งยืน

ด้วยภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนทั้งหมดที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ประชาชนมีความสุข ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ทรงครองราชย์ พระองค์ที่ทรงมีพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศดำเนินการได้มากกว่า 4,000 โครงการเกิดเป็นหลักการทรงงาน ปรัชญา ทฤษฎีและแนวคิดการพัฒนาด้านต่างๆ ที่วางรากฐานอยู่บนหลัก”ภูมิสังคม” อาทิ ทฤษฎีใหม่ แกล้งดิน ฝ่ายชะลอน้ำ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ซึ่งล้วนบังเกิดผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับสรรเสริญและน้อมนำไปปฏิบัติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะดำเนินพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดา โดยในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนต่อไป