1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาดำเนินการขุดลอกลำน้ำ ณ บ้านร่องกะถิน ตำบลบ้านกลาง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และเป็นการกำจัดวัชพืชที่เกิดตามธรรมชาติริมฝั่งคลอง อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น 137 ครัวเรือน 619 คน
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกบางในตอนเช้า กับอากาศร้อนในตอนกลางวัน แต่ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 32,003 ล้าน ลบ.ม. (55%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 25,376 ล้าน ลบ.ม. (53%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,488 ล้าน ลบ.ม. (69%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,138 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9,550 ล้าน ลบ.ม. (53%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 25,245 ล้าน ลบ.ม. (53%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 13,067 ล้าน ลบ.ม. (60%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,458 ล้าน ลบ.ม. (63%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่ ณ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี พบผู้ขอรับบริการฝนหลวงและเกษตรกร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่การเกษตร พบว่าพื้นที่การเกษตรในอำเภอแหลมสิงห์ ส่วนใหญ่ปลูกทุเรียนอยู่ในระยะติดผล และมังคุดอยู่ในระยะติดผลอ่อน ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างมาก สำหรับสระน้ำส่วนตัวที่ขุดไว้ใช้เพื่อการเกษตรเริ่มแห้งและไม่เพียงพอ หากฝนไม่ตกในพื้นที่จะทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย เกษตรกรจึงขอรับบริการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่การเกษตรและอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงต่อไป