อธิบดี พช. โชว์ความสำเร็จการขับเคลื่อนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ส่งเสริมการออม สร้างวินัยทางการเงิน

วันที่  6 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการออมลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องในโอกาสครบรอบ 49 ปี ความสำเร็จของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต พร้อมด้วย นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมกาพัฒนาชุมชนทุกท่าน โดย นางทัศนีย์ ชัยคุณแสง ผู้อำนวยการสำนักทุนและองค์กรการเงินชุมชน กล่าวรายงานฯ

ในการนี้ได้รับเกียรติปาฐกถาพิเศษจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี ผู้ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต พร้อมกับเวทีเสวนา พูดคุยกับคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หัวข้อ “ความสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” และ “การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยการใช้เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” จากวิทยากรภาคราชการ หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการฯ จำนวน 8 แห่ง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหนองสมบัติ จ.ชัยนาท, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านถาวรสามัคคี จ.สระแก้ว, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหนองจิก จ.อุทัยธานี, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขาม จ.ชัยภูมิ, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนตะโหนด จ.สิงห์บุรี, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านชากมะหาด จ.ระยอง, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง จ.ปราจีนบุรี, กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านชากไทย จ.จันทบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ด้านการส่งเสริมการออม รวมทั้งประชาสัมพันธ์งานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแก่ประชาชนทั่วไป

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาตั้งแต่ปี 2517 ริเริ่มโดยคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 8 โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรกจำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 6 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกำหนดให้วันที่ 6 – 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัดและการออมของประชาชน

อธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างมากที่เราขับเคลื่อนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาถึง 49 ปี ซึ่งเป็นรากฐานของกรมฯ โดยทุกคนต้องมีความเข้าใจ รับรู้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง ตาม SDG เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ขจัดความยากจนในชุมชน สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้น “ต้องไม่มีคนตกเกณฑ์จปฐ.” และขอให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็งบูรณาการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ โดยกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกองทุนชุมชนที่สำคัญ กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิกเพื่อนำผลกำไรไปพัฒนาและจัดสวัสดิการให้ชุมชนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน นำสู่การลดหนี้ ปลดหนี้ สร้างงานสร้างอาชีพให้ครัวเรือน สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชน เรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ “กระบวนการกลุ่ม” ใช้  “สัจจะออมทรัพย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยการออม ภายใต้หลักการ “คุณธรรมพัฒนาคน ประชาชนพัฒนาชาติ” โดยใช้หลักคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกัน และความไว้วางใจกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 22,923 กลุ่ม สมาชิกกว่า 3 ล้านคน เงินสัจจะสะสมมากกว่า 35,000 ล้านบาท สมาชิกมีเงินออมเพื่อใช้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาหนี้สินในครัวเรือนได้กว่า 1.2 ล้านคน เป็นจำนวนเงิน 24,300 ล้านบาท นอกจากนี้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตยังดำเนินกิจกรรมเครือข่าย เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด ยุ้งฉาง ธนาคารข้าว ลานตากผลผลิต โรงสีข้าวชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ของกลุ่ม นำไปพัฒนาชุมชนด้านต่าง ๆ รวมถึงจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและชุมชน ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง คณะกรรมการมีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด “พี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็น “โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” 8 แห่ง และปี 2566 จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” 4 ศูนย์ ทั่วทุกภาค รวมถึงเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อน “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” (ศจก.) จำนวน 1,245 แห่ง โดยปี 2566 มีเป้าจัดตั้งเพิ่ม 400 แห่ง เพื่อบูรณาการกองทุนต่าง ๆ ในชุมชน แก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนนำไปสู่การลดหนี้ ปลดหนี้ แก้ปัญหาทางการเงินของครัวเรือนอย่างได้ผลดี