สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 มี.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ในตอนเช้า ภาคกลางและภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ จ.พัทลุง (10 มม.) จ.สุราษฎร์ธานี (10 มม.) และจ.พระนครศรีอยุธยา (9 มม.)

น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 32,516 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 25,814 ล้าน ลบ.ม. (54%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการใช้งานและซ่อมบำรุงรักษาระบบประปาบาดาล ให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้ ดังนี้
– โครงการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนระบบน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ณ รร.บางไทร หมู่ที่ 4 ต.บางไทร
อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
– โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน รูปแบบที่ 2 ณ บ้านหนองหวาย หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งกระบ่ำ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี
– โครงการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ณ รร.สุพรรณภูมิ ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

กอนช. ติดตามการดำเนินการโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ
กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ ช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ในพื้นที่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ก่อสร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ.2506 ความจุที่ระดับเก็บกักประมาณ 19.32 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฤดูฝนได้ประมาณ 14,614 ไร่ และฤดูแล้งอีกประมาณ 3,000 ไร่ มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิมไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร อีกทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากมักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ อ.หัวตะพาน และเมืองอำนาจเจริญ บริเวณริมฝั่งลำเซบายและลำห้วยปลาแดก จึงได้ดำเนินโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน ด้วยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำเพื่อเพิ่มความจุเก็บกักน้ำให้มากขึ้น พร้อมปรับปรุงบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ จัดสร้างอาคารประกอบ 43 แห่ง และก่อสร้างถนนรอบอ่างฯ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 9.50 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีความจุเก็บกักเพิ่มเป็น 28.34 ล้าน ลบ.ม. สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้มีน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี รวมไปถึงการสนับสนุนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา รองรับการขยายตัวของทุกภาคส่วนในอนาคต ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองอำนาจเจริญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้กับประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย