พม. จับมือ สสดย. สสส. และเครือข่าย เปิดเวทีถกปัญหาความรุนแรงผ่านสื่อ ยกความปลอดภัยของเด็กเป็นวาระแห่งชาติ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566  เวลา 13.30 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาเรื่อง “สื่อกับความรุนแรง : ความรับผิดชอบร่วมของใคร…” เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหา และหาทางออกร่วมกันในการลดความสูญเสียที่จะตามมา โดยมุ่งหวังให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนแสดงออกถึงความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการร่วมในการลดความรุนแรงผ่านสื่อในสังคมไทย

โดยมี นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเสวนา ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ

นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเสนอความรุนแรงผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบเป็นจำนวนมาก ทั้งความรุนแรงจากข่าวเหตุการณ์ฆาตกรรม การทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายจิตใจจากการด่าทอว่าร้าย การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูดทางโลกออนไลน์ หรือการบูลลี่ (Bully) และการมีฉากรุนแรงโหดร้ายในละคร เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาจากสื่อย่อมส่งผลให้เกิดความรุนแรงในสังคมตามมาอีกด้วย ทั้งนี้ การใช้ความรุนแรงส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตเด็ก โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากคนในครอบครัวและคนใกล้ตัว และการถูกทารุณกรรมต่อเนื่องซ้ำ ๆ ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ในตัวตน การพัฒนาบุคลิกภาพ การเรียนรู้ ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และอาจนำไปสู่วงจรการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัวและสังคมต่อไป ทั้งนี้ จึงขอเสนอต่อรัฐบาลให้ประเด็นความปลอดภัยของเด็กเป็นวาระแห่งชาติ

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเต็มศักยภาพ มีความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัวอบรมสั่งสอนและปลูกฝังค่านิยมที่ดี ให้คำแนะนำ แยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นโทษ ทั้งนี้ การขัดเกลาทางสังคมและความผูกพันทางสังคม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง อันเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับการรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ การเสพสื่อโดยปราศจากคำแนะนำของผู้ปกครอง ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรืออาจมีพฤติกรรมเลียนแบบสิ่งที่ตนได้เห็นมาจากสื่อ เข้าใจผิดคิดว่าพฤติกรรมที่ปรากฎอยู่ให้เห็น เป็นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้