กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนชาวสวนทุเรียนทั่วประเทศสร้างเครือข่ายความเข้มแข็ง ผลักดันตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย พร้อมเป็นแกนกลางหนุนเลือกตั้ง “นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียน” เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนภาพรวมทั้งระบบ
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ทุเรียนเป็นราชาผลไม้ไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ มีความสำคัญต่อภาคเกษตรไทยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก กระแสความนิยมของการปลูกทุเรียนในปัจจุบันนับว่ามีทิศทางที่สูงขึ้น เห็นได้จากการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศขณะนี้มีมากถึง 32 จังหวัด (ข้อมูลเอกภาพสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2561) ข้อมูลสถานการณ์การผลิตทุเรียนทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 พบว่า เนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้นจาก 666,505 ไร่ เป็น 839,725 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.62 เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจาก 570,567 ไร่ เป็น 654,509 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.82 เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก 631,774 ตัน เป็น 737,065 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.29 ขณะที่มูลค่าและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2561 เป็นเงิน 35,333 ล้านบาท ปริมาณ 530,226 ตัน ซึ่งเพิ่มจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 24,847 ล้านบาท ปริมาณ 513,883 ตัน และจากข้อมูล 4 ปีที่ผ่านมา (2558 – 2561) ประเทศไทยส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีจีนเป็นตลาดหลักในการส่งออก
กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ตระหนักถึงแนวโน้มการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศ ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 655,505 ไร่ เป็น 839,725 ไร่ โดยมีเกษตรกรที่มีความสามารถโดดเด่นเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ดี (best practice) พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน ซึ่งกระจัดกระจายหลายภาคทั่วประเทศ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการรวมกันเป็นองค์กรหรือเครือข่ายระดับประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทย ตลอดจนการสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้ทุเรียนเป็นต้นแบบการพัฒนาและบริหาร จัดการผลไม้ด้วยความสามารถขององค์กรเกษตรกรเอง โดยมีภาครัฐเป็นฝ่ายให้การสนับสนุน ดังนั้น จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้มแข็งสู่การเป็นสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1. เพื่อสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทย 6 ภูมิภาค และ 2. กำหนดแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนทั้งระบบ ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย การเลือกตั้งนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ เรื่อง อนาคตทุเรียนไทยใครกำหนด การยกร่างกฎระเบียบ/ข้อบังคับสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย โดยคณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศทั้ง 6 เขต เขตละ 15 คน รวม 90 คน
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดหวังว่า การจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยครั้งนี้ จะทำให้เกิดการผลิตทุเรียนคุณภาพสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้ทุเรียนเป็นต้นแบบการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ด้วยความสามารถขององค์กรเกษตรกรเอง มีการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาด รวมทั้งมองถึงการแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดผูกขาดอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการทุเรียนในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนจะได้ปรับเปลี่ยนการผลิต มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนในการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น มีการวางแผนที่ดีลดความเสี่ยงการผลิตสินค้าซึ่งมากเกินความต้องการ ถือเป็นการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ด้วยวิถีทาง แห่งนวัตกรรม การเพิ่มมูลค่าและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามนโยบายเกษตร 4.0
สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย 6 ราย ประกอบด้วย 1. นายพนม จันทร์สอง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี อายุ 69 ปี 2. นายประโยชน์ พรหมสุวรรณ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อายุ 65 ปี 3. นายธีรภัทร อุ่นใจ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี อายุ 55 ปี 4. นายสัมฤทธิ์ ม่วงประเสริฐ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ อายุ 55 ปี 5. นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร อายุ 50 ปี และ 6. นายปีติภัทร วิสาวะโท เขตบางแค กรุงเทพมหานคร อายุ 59 ปี
ที่สำคัญพลาดไม่ได้กับกับกิจกรรมไฮไลท์วันที่ 29 พ.ค. กับการแข่งขัน “นักคัดทุเรียนคุณภาพ นักคัดมือทอง” ? เพื่อเฟ้นหานักคัดทุเรียนคุณภาพ
จำหน่ายทุเรียนคุณภาพเน้นๆ ทั้งทุเรียนสดและแปรรูป จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง
? โชว์สุดยอดนวัตกรรมเครื่องวัดคุณภาพทุเรียน
? โชว์สุดยอดทุเรียนสายพันธุ์หายาก
? แชร์วิธีบรรจุหีบห่อ และบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุทุเรียนให้อร่อย กินได้นาน
*********************************
อัจฉรา : ข่าว, มิถุนายน 2562
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล