ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะนี้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ตราด (49 มม.) จ.ชลบุรี (40 มม.) และ จ.ชัยภูมิ (39 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 36,118 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 28,970 ล้าน ลบ.ม. (61%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์ เพื่อสูบระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ บริเวณบ้านหนองหวาย ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
สทนช.เดินหน้าศึกษาแผนบูรณาการ แก้ปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้งซ้ำซาก พื้นที่เฉพาะ (AreaBased) เชียงใหม่-ลำพูน เล็งดัน 6 โครงการนำร่องแก้ปัญหาวิกฤตพื้นที่เฉพาะ เชียงใหม่-ลำพูน สร้างสมดุลน้ำอย่างยั่งยืน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (AreaBased) เชียงใหม่-ลำพูน
จากการลงพื้นที่บริเวณโครงการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการเร่งด่วนของแผนบูรณาการ โดยข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 จะพบว่าน้ำในคลองแม่ข่ามีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก มีสารปนเปื้อนตกค้างอยู่หลายชนิดและมีค่าสูงกว่าปกติ ทั้งยังมีสีขุ่นดำและมีกลิ่นเหม็น สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของชุมชนเมืองโดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ดังนั้น การแก้ปัญหาเร่งด่วนคือการจัดการด้านคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่ 8 อปท. พร้อมกับการปรับปรุงลำน้ำและภูมิทัศน์คลองแม่ข่าตลอดทั้งสาย ซึ่งเมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลให้คุณภาพน้ำในคลองแม่ข่าดีขึ้นและมีความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย สะดวกต่อการบำรุงรักษา
ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าอยู่แล้ว แต่ยังขาดการบูรณาการ ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ สทนช. จะต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขเชิงบูรณาการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง