เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) ตอน จ.ตาก “อาหารถิ่น แผ่นดินสี่มหาราช”

Featured Video Play Icon

เที่ยวไทย Amazing ไทยเท่ เปิดเส้นทางมหัศจรรย์แห่งอาหารพื้นถิ่น โชว์ศิลปวัฒนธรรมการกินแต่ละภูมิภาคของไทย ที่ใครๆ ก็ห้ามพลาด ชวนสัมผัสเอกลักษณ์อันโดดเด่นของสตรีทฟู้ดที่สร้างสรรค์ อาหารถิ่นสไตล์วิถีไทยพื้นบ้านดั้งเดิมที่ปรุงแต่งอย่างวิจิตรบรรจง จนบางครั้งเราได้ชิมอาหารอร่อยและกำลังเสพศิลปะจากอาหารอย่างคาดไม่ถึง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำ “เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน” จำนวน 10 เส้นทางกระจายไปทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดตาก พะเยา สกลนคร สุรินทร์ ตราด ราชบุรี ระนอง สตูล อ่างทอง สิงห์บุรี และลพบุรี มุ่งเน้นแสดงออกถึงเส้นทางอาหารไทย (Gastronomy Tourism) เส้นทางสายภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ชุมชนตาม Lifestyle ของนักท่องเที่ยว ดันประเทศไทยสู่การเป็น World Destination ทางด้านอาหาร กระตุ้นให้ นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

คุณนิธี สีแพร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เล่าถึงที่มาของโครงการ เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism)  ว่า “ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการโปรโมทการท่องเที่ยวให้เกิดการกระจายตัว ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก จึงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้พื้นที่อื่น ๆ ได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากขึ้น “เมืองรอง” ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม กิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอาหารการกิน

จังหวัดตาก เป็นหนึ่งใน เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน ที่อยากนำเสนอในแนวคิด “อาหารถิ่น แผ่นดินสี่มหาราช” ซึ่งจุดเด่นของอาหารเมืองตากคือ “เมี่ยง” ที่มีความเป็นมายาวนานพร้อมๆ กับการตั้งรกรากของชาวมอญบริเวณลุ่มน้ำปิง ด้วยภูมิศาสตร์ที่ใกล้พม่า ล้านนา รวมถึงสุโขทัย จึงทำให้จังหวัดตากมีวัฒนธรรมแบบผสมผสานที่หลากหลาย โดยวัฒนธรรมที่เห็นเด่นชัดและสืบทอด มาจวบจนปัจจุบันนั้นก็คือวัฒนธรรมด้านอาหาร ซึ่งชาวตากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนิยามทาน “เมี่ยง” ซึ่งจังหวัดตากมีเมี่ยงที่ รับประทานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอยู่ถึง 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ เมี่ยงมะพร้าว เมี่ยงแคบหมู และเมี่ยงเต้าเจี้ยว

เมี่ยงมะพร้าว จะนำเนื้อมะพร้าวมาขูดให้เป็นเส้น หรือหั่นฝอย แล้วนำมาทอดกับถั่วลิสง กระเทียมจน เหลืองหอม จากนั้นใส่น้ำตาลลงไป ซึ่งไส้เมี่ยงจะจับตัวกันเป็นก้อน เวลาทานก็จะทานคู่กับใบเมี่ยง

เมี่ยงแคบหมู เนื่องจากแคบหมูเป็นอาหารที่คนตากนิยมทานเป็นอย่างมาก อันได้วัฒนธรรมสืบทอดมา จากทางล้านนาเช่นกัน คนตากจึงนำแคบหมูมาทานเป็นเมี่ยงเพื่อเป็นอาหารทานเล่น ซึ่งประกอบไปด้วย แคบหมู เจียวใหม่ ๆ หั่นชิ้นเล็ก ๆ ถั่วลิสงทอด กระเทียมเจียว โรยด้วยน้ำตาลทราย ตัดเกลือป่นเล็กน้อย ซึ่งความหวานกรอบ ของไส้เมี่ยง จะเข้าได้ดีกับความนุ่มเปรี้ยวอมหวานกับใบเมี่ยงได้เป็นอย่างดี

เมี่ยงเต้าเจี้ยวหรือเมี่ยงจอมพล เมี่ยงชนิดนี้ เป็นเมี่ยงคำที่หาทานได้เฉพาะถิ่นของจังหวัดตาก การที่ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ของไทยซึ่งพื้นเพเป็นคนเมืองตากแต่กำเนิด เมื่อครั้งใด ที่ท่านกลับมาเยี่ยมบ้านก็จะเรียกหาเมี่ยงเต้าเจี้ยวอันเป็นเมนูโปรดของทานทุกครั้งไป ดังนั้นชาวตากจึงมีการเรียกเมี่ยงเต้าเจี้ยวว่า “เมี่ยงจอมพล” อันเป็นการระลึกถึงท่านนั่นเอง เมี่ยงจอมพลนี้จะมีเครื่องเคียงที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรหลายอย่าง ได้แก่ มะนาวและขิงหั่นเต๋า ตะไคร้ซอย กระเทียม ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง ข้าวพอง และ มะพร้าวทึนทึกขูด และที่ขาดไม่ได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจของเมี่ยง ชนิดนี้ก็คือเต้าเจี้ยวเมืองตาก ซึ่งมีวิธีการหมักพิเศษเฉพาะเมืองตากเท่านั้น วิธีการทานก็มีให้เลือก 2 แบบ คือจะ ทานกับใบชะพลู หรือข้าวเกรียบงาดำเมืองตาก นำมาพรมน้ำให้อ่อนตัวแล้วมาห่อกับเครื่องต่าง ๆ จากนั้นราดด้วยเต้าเจี้ยวที่ผสมน้ำตาลอ้อยเพื่อชูรสชาติเต้าเจี้ยวให้อร่อยกลมกล่อมขึ้น เพิ่มรสสัมผัสพร้อมความหอมของสมุนไพร กรุบกรอบด้วยข้าวพอง ถั่วลิสง และกุ้งแห้ง บางท่านก็เพิ่มพริกขี้หนู และมะเขือพวงเข้าไปเพื่อความเข้มข้นในรถชาติอีกด้วย

จากที่คนตากนิยมทานเมี่ยงเป็นของว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมี่ยงมะพร้าว จึงทำให้มีการผลิตเมี่ยงกันทั้งปี จนทำให้มีกะลามะพร้าวเหลืออยู่มากมาย ครั้นเมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง ชาวตากแต่ละชุมชนจึงนิยมนำกะลามะพร้าวนี้ มาทำความสะอาด ขัดถูประดิษฐ์ตกแต่งให้สวยงาม เพื่อนำไปลอยในแม่น้ำปิง ชุมชนละ 1000 ดวงต่อเนื่องเป็นสาย ด้วยความพิเศษของแม่น้ำปิง ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะมีสันดอนทรายใต้น้ำ ทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อนำกระทงมาลอย กระทงก็จะไหลไปตามร่องน้ำดังกล่าว เกิดแสงระยิบระยับเป็นสายยาว ตามความยาวของร่องน้ำมีความสวยงามมาก จึงเรียกกันว่า ประเพณีกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง อัน เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตากที่โด่งดังไปทั่วโลก

นอกจากเมี่ยงแล้ว วัตถุดิบเต้าเจี้ยว และข้าวเกรียบงาดำ ที่คนพื้นถิ่นเรียกกันว่า ข้าวแคบ คนตากยังรังสรรค์เป็นเมนูอาหารได้อีก หลายจาน และยังคงเป็นที่นิยมของคนตากดั้งเดิมจวบจนปัจจุบัน

ข้าวเกรียบงาดำ หรือข้าวแคบ ทำมาจากข้าวเจ้าอย่างดีที่โม่จนได้เป็นตัวแป้งสีขาวหอม ผสมกับงาดำที่ต้องนำไปล้างให้สะอาดและต้มให้สุกก่อนจะนำไปตากให้แห้ง  จากนั้นจึงนำแป้งข้าวเจ้าผสมกับงาดำและน้ำฝน ไล้บนผ้าขาวบางเหมือนข้าวเกรียบปากหม้อ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 20 เซนติเมตร พอสุกดีจึงนำไปตากบนหญ้าคาให้แห้งสนิท จึงเก็บไปทำอาหารด้วยการชุบน้ำให้นิ่ม ทอด หรือปิ้งให้สุกก็ได้

เต้าเจี้ยว ได้จากการนำถั่วเหลืองคุณภาพดีไปหมัก ซึ่งการหมักของเต้าเจี้ยวเมืองตากนั้นแตกต่างจากการทำเต้าเจี้ยวทั่วไป ด้วยกรรมวิธีในการผลิตโดยเฉพาะนี้จึงทำให้ได้เต้าเจี้ยวที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของที่นี่แห่งเดียว สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่หลากหลายได้อย่างอร่อย เช่น ผัดเต้าเจี้ยว การนำเต้าเจี้ยวผัดกับหมูสามชั้นที่เจียวจนเหลืองหอม ปรุงรสให้ได้ 3 รสชาติ ที่กลมกล่อม เค็ม เปรี้ยว หวาน จากนั้นใส่พริกหนุ่มหั่นแล้วผัดจนสุก เพื่อเวลาทานจะได้ความเผ็ดจากพริก มาชูรสทำให้ความอร่อยของเต้าเจี้ยวผัดนั้นหอมขึ้นเป็นเท่าทวี

ยำข้าวเกรียบ ชาวตากนิยมทานข้าวเกรียบงาดำเป็นอย่างมาก จึงมีการนำมายำกับน้ำพริกกุ้ง หรือบางบ้านอาจใช้น้ำพริกปลายางแทน จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลา มะนาว ตัดหวานด้วยน้ำตาลเล็กน้อยปรุงให้ได้ 3 รส เปรี้ยว เค็ม หวานตามลำดับ จากนั้นใส่ถั่วฝักยาวหั่นหยาบ กับแครอทขูดเป็นเส้นเพื่อเพิ่มความสวยงามและวิตามิน ท้ายสุดใส่ถั่วลิสงทอด โรยหน้าด้วยแคบหมู เมื่อทานจะได้รสสัมผัสที่นุ่มของข้าวเกรียบ และความกรอบจาก ถั่วฝักยาว ถั่วทอด และแคบหมู ซึ่งเป็นเมนูที่ทานง่าย อิ่มท้อง และอร่อยถูกใจนักชิม

แกงมะแฮะ เมืองตากนิยมรับประทานกับข้าวเกรียบปิ้งหรือ เมล็ดมะแฮะจะมีรสดีในช่วงเดือนเมษายน (ตอนสงกรานต์) หลังจากนั้นเมล็ดจะ ไม่ค่อยอร่อย ใช้ถั่วมะแฮต้มให้เปื่อยแล้วใช้พริกแกงส้มผสมปลาย่าง โดยเอา พริกแกงผัดกับหมูที่จะใส่ แล้วใส่หม้อต้มรวมกับถั่วมะแฮ ปรุงรสตามชอบ ใสน้ำปลา น้ำมะขามเปียก ใบชะอม กินกับข้าวเกรียบทอดหรือย่าง ถ้าจะให้อร่อยมากขึ้นต้องใส่ใบส้มป่อยด้วย

ข้าวต้มผงกะหรี่ อาหารเช้าชาวตาก ข้าวต้มผงกะหรี่ เป็นอาหารเช้าของคน จ.ตาก ซึ่งจะมีรสชาติไม่จัดจ้านมีรสหอมอ่อน ๆ จากผงกะหรี่ และจากใบเตยตอนที่ต้มข้าวมีหอมเจียว ผักชีฝรั่ง แลเกี๊ยวทอดกรอบวางหน้า บางที่ใช้เต้าหู้แห็งทอดกรอบโรยหน้า

นอกจากอาหาร เมืองตากยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและห้ามพลาดที่จะไปเยือน พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น  โดยการเดินทางมาจังหวัดตากนั้น สามารถเดินทางได้ 2 รูปแบบ คือทางเครื่องบิน และทางรถ หากเลือกการเดินทางโดยเครื่องบิน ก็สามารถประหยัดเวลาได้มากเพราะใช้เวลาเพียงประมาณ 1 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ก็จะเดินทางมาถึงสนามบิน อ.แม่สอด จังหวัดตาก  หรือลงที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีหลายเที่ยวบินต่อวันให้เลือก จากนั้นก็นั่นรถต่อราว 1.30 ชั่วโมง จากแม่สอด หรือ 1 ชั่วโมงจากสุโขทัย ก็จะถึงอำเภอเมืองตากซึ่งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำปิง โดย 2 ข้างทางจะได้พบกับวิวทิวทัศน์ของป่าไม้ภูเขาที่ร่มรื่นพร้อมอากาศบริสุทธิ์ตลอดเส้นทาง หากขับรถยนต์ก็ใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ โดยขับมาบนถนนสายเอเชีย มุ่งสู่ภาคเหนือ ก็จะตรงถึงตัวอำเภอเมืองตาก โดยไม่ต้องผ่านอำเภอแม่สอด

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เมื่อมาถึงจังหวัดตากนั้น สิ่งแรกที่ควรต้องไปแวะสักการะนั่นก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งประดิษฐานที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน หนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองและยังเป็นที่รวมจิตใจของชาวตาก ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอาคารทรงจัตุรมุข ภายใน ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ในพระอิริยาบถประทับบนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา(ขาหรือตัก) ส่วนด้านหลังศาลนั้น จะมีรูปปั้นม้าศึก ช้างศึก และไก่ชนจำนวนมาก ที่คนทั่วไปนำมาแก้บนถวาย สวนบริเวณศาลด้านข้างจะมีลานเทิดพระเกียรติ และ “สวนสิบสองนักษัตร” อันร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ดอกไม้นานาพรรณ โดยในวันที่ 28  ธันวาคมของทุกปี ชาว จังหวัดตากจะร่วมกันจัดงานตากสินมหาราชานุสรณ์ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของชาวจังหวัดตาก โดยภายในงานจะมีการแสดงแสงสีเสียงตระกานตา เพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน

พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก

พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยปรับปรุงอาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก (หลังเดิม) มาเป็นพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากในอดีตสถานที่ดังกล่าวเคยเป็น “เรือนประทับ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเมืองตาก เมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยพิพิธภัณฑ์ฯ จะจัดแสดงและรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตากที่มีอยู่จำนวนมากและเก็บรักษาไว้กระจัดกระจายในสถานที่ต่าง ๆ ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน เนื้อหาการจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นบน จัดเป็นห้องแสดงพระราชกรณียกิจที่เป็นภาพถ่ายและโบราณวัตถุและศิลปวัตถุต่าง ๆ  อาทิ ถ้วยชามกระเบื้อง พระพุทธรูป เป็นต้น และชั้นล่าง จัดเป็นห้องแสดงสิ่งของมีค่าของจังหวัดตาก เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

ตกเย็นเราสามารถไปชมบรรยากาศที่สวยงามของสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือที่คนตาก จะเรียกกันสั้น ๆ ว่า สะพานแขวน ซึ่งจากจุดนี้เอง จะกล่าวได้ว่าจุดชมวิวแม่น้ำปิงที่ดีที่สุดของจังหวัดตาก คือนักท่องเที่ยวสามารถเดินเล่นบนสะพานซึ่งมีระยะทางยาว 400 เมตร ซึงปัจจุบันนี้ไม่อนุญาตให้รถทุกชนิดสัญจร บนสะพาน ดังนั้นนักท่องเที่ยวสามารถเดินเล่น ถ่ายรูปพักผ่อนบนสะพานได้อย่างเต็มที่ ในยามค่ำคืน จะมีการประดับไฟสวยงาม ทำให้ตัวสะพานแลดูสว่างไสวโดดเด่นเหนือผืนน้ำสีเข้ม นอกจากนี้บริเวณโดยรอบสะพานยังมีสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่มีภูมิทัศน์สวยงามทอดขนาน ไปกับลำน้ำปิง ซึ่งเป็นสถานที่ที่จังหวัดตาก ใช้จัดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง ซึ่งเป็นงานประเพณีประจำท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

กาดนั่งยองคล้องย่าม

หากเป็นช่วงเสาร์อาทิตย์ จากสะพานแขวนหากเดินทองน่องเลียบแม่น้ำไปทางทิศเหนือราว 300 เมตร จะได้พบกับ กาดนั่งยองคล้องย่าม ซึ่งเป็นตลาดถนนคนเดิน โดยเอกลักษณ์ของกาดนั่งยอง คล้องย่าม อยู่ตรงที่แคร่วางของขายสูงประมาณหัวเข่า เวลาจะหยิบจะเลือก นั่งยองๆ เลือกจะสะดวกกว่าก้มลงมาเลือก ฟุตบาธด้านหลังร้านบางร้านปูเสื่อไว้ให้นั่งรับประทานอาหารที่ซื้อจากร้าน ด้านหนึ่งที่ติดแม่น้ำปิงเป็นด้านที่คนนิยม เพราะได้ทานอาหารและชมวิวสวย ๆ ไปด้วย ส่วนอาหารการกินก็มากมายหลายราย ทั้งแบบพื้นบ้าน หรือเมนูการคิดค้นกันขึ้นมาให้แปลกแหวกแนวไม่เหมือนที่อื่น

วัดพระบรมธาตุ

จากเขื่อนภูมิพลขับรถล่องมาทางใต้ราวครึ่งชั่วโมง จะถึงอำเภอบ้านตาก ซึ่งถือเป็นตัวเมืองตากในอดีต ก่อนจะย้ายมาเป็นเมืองตากในปัจจุบัน ที่อำเภอบ้านตากนี้ จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมากนั่นคือ วัด พระบรมธาตุ ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุนั้นได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า และถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของปีมะเมีย ในช่วงวันขึ้น 14 และ 15 ค่ำเดือนเก้าของทุกปี จะมีการจัดงานบุญที่ยิ่งใหญ่ คือประเพณีขึ้นธาตุขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการจัดขบวนแห่ผ้าห่มธาตุขึ้นไปทำพิธีห่มพระบรมธาตุ จากนั้นจะเป็นพิธีการบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถีเจดีที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงสร้างไว้ในคราวทำศึกสงครามยุทธหัตถีชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ซึ่งอยู่ ตรงข้ามกับวัดพระบรมธาตุนั่นเอง

ตรอกบ้านจีน

ชุมชนการค้าขายที่รุ่งเรืองมากในอดีตที่แม้วันนี้บรรยากาศความคึกคักของชุมชนค้าขายอาจไม่หลงเหลือ มาถึงยุคปัจจุบัน แต่ตรอกบ้านจีนก็ยังคงมีบ้านเก่าที่ได้รับการักษาสภาพเดิมให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม ท่ามกลางสาย ลมแห่งวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ตรอกบ้านจีนในสมัยก่อนมีอยู่ด้วยกัน 3 หมู่บ้าน ได้แต่ หมู่บ้านเสาสูง หมู่บ้านปากคลองน้อย และหมู่บ้านบ้านจีน ต่อมาปี พ.ศ. 2495 ทางเทศบาลได้รื้อสะพานทองและถมเป็นถนน และได้เริ่มมีรถยนต์ใช้ อย่างไรก็ตาม ตรอกบ้านจีนนั้นเริ่มซบเซาลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2484 ร้านค้าที่เคยเปิดกันอย่างคึกคักก็อพยพไปอยู่ที่อื่น ปิดฉากความรุ่งเรืองของตรอกบ้านจีนนับแต่นั้นมา

   

ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว เพิ่มเติมว่า การท่องเที่ยวรูปแบบปัจจุบันที่คนนิยมเที่ยวกันคือเรื่องของการชิมอาหาร ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบ Gastronomy Tourism ไปทานอาหารไม่ใช่แค่ชิมอย่างเดียวแต่ไปดูเรื่องวิธีการทำ แหล่งผลิต ว่าเกี่ยวพันอย่างไร เช่น ข้าวแคบงาดำ ก็นำข้าวเจ้ามาตำและคลุกกับงาดำ ก่อนกินก็นำไปปิ้งก่อน   จากนั้นเสริมเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ วัด วา อารามที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ก็ไปดูแหล่งผลิตอาหารต่าง ๆ ซึ่งเป้าหมายของจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาสู่จังหวัดตาก รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าใน 55 เมืองรอง ในปีหน้าต้องมีโอกาสแบ่งปันรายได้รวมประมาณ 10,000 ล้านบาทจากการนักท่องเที่ยว 10 เมืองที่เราทำขึ้นมาก็อาจมีส่วนได้สัก 15-20% การกระจายรายได้ออกไปน่าจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท จากการที่นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเมืองรอง ซึ่งในปี 2559  ตาก มีนักท่องเที่ยวราว ๆ 2 ล้านคนปี 61 เราก็ตั้งเป้าเอาไว้ ที่ 2.1 ล้านคน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่มีชาวต่างชาติบ้างเน้นยุโรปเป็นส่วนใหญ่และเออีซีด้วยกัน”

“สิ่งหนึ่งที่เมืองตากเป็นเมืองสำคัญ เพราะอยู่บนเส้นทาง East – West Corridors คือเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันตกไปภาคตะวันออก ซึ่งคนที่จะเดินทางจากพม่าไปลาวก็จะผ่านทางนี้ แม่สอดมาตาก ไปพิษณุโลก พิษณุโลกก็จะมีแยกอินโดจีน ขึ้นเหนือได้ลงใต้ได้ เลยไปก็จะเข้าขอนแก่น อุดร หนองคาย นักท่องเที่ยวยุโรปที่ชอบเดินทางมาเมืองไทย หลายคนก็จะเดินทางแบบ Combine Destinations ไปพม่า มาไทย ไปลาว สำหรับการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะตามรอยนั้น หลังจากนี้เราก็จะไปจัดทำเส้นทางขึ้นมา จะอัพโหลดไปยังเวปไซต์ของ ททท.ด้วย tourism produce /tourism.org และจะเผยแพร่ไปใน social media ต่างๆ ด้วย