สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ก.พ. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองได้บางพื้นที่ ภาคเหนือตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สระบุรี (45 มม.) จ.บึงกาฬ (43 มม.) และ จ.ตราด (36 มม.)

น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 36,269 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 29,103 ล้าน ลบ.ม. (61%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง โดยประสานงานด้านการบริหารโครงการฯ การใช้ประโยชน์จากโครงการฯ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามระดับน้ำบาดาล คุณภาพน้ำบาดาล และร่วมทำแบบสอบถามความพึงพอใจของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้น้ำ

สทนช. ร่วมกับ มช. ลงนาม MOU ร่วมขับเคลื่อนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือ หนุนใช้งานวิจัยและพัฒนาคนสู่การใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ลงนามบันทึกความเข้าใจการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือด้วยข้อมูล งานวิจัย และการพัฒนาบุคลากรนำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืนของประเทศไทย ร่วมกับ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยมี รศ.ดร.วินิตา บุณโยดมรองอธิการบดี มช. เป็นพยาน และนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารจาก สทนช. และ มช. เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น จัดขึ้นเพื่อบูรณาการความร่วมมือให้เกิดการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยข้อมูล งานวิจัย และการพัฒนาบุคลากร นำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืนของประเทศไทย รวมไปถึงรวมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถของทั้งสองหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพและสร้างประสิทธิผล สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน และสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างการรับรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) พร้อมทั้งบูรณาการสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับภาคเอกชน ภาคชุมชน และภาคประชาชน ประกอบกับการสนับสนุนข้อมูลและเชื่อมโยงระบบสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ