ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดการประชุมชี้แจงให้ความรู้การจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชี้แจงและให้ความรู้การจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และคณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ไปในทิศทางเดียวกัน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดโครงการและกิจกรรม โดยนำตัวแบบการจัดการทรัพยากรน้ำและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ทดลองอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยน้อมนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาใช้ดำเนินการภายใต้กลไกการทำงานในรูปแบบของการดำเนินงานโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ ของกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่ 875 อำเภอ โดยใช้กลไกการบริหารราชการของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในการขับเคลื่อนกำกับดูแลร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3,849 แห่ง และ 7 ภาคีเครือข่าย เป็นหน่วยดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย อันจะก่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ (Area Based) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามมิติการพัฒนา TPMAP และ ThaiQM ทั้ง 5 มิติ ทั้งมิติด้านสุขภาพ ได้แก่ การมีอาหารถูกสุขลักษณะ และการเกษตรปลอดสารพิษ มิติด้านความเป็นอยู่ ได้แก่ ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม มีน้ำใช้ น้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภค มิติด้านการศึกษา ได้แก่ การพัฒนาคนทุกช่วงวัย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มิติด้านรายได้ ได้แก่ การมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการมีน้ำ และที่ดินสำหรับประกอบอาชีพ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ ได้แก่ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลจากรัฐ ชุมชน และท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม มีรากฐานการดำรงชีวิต และพัฒนาสู่อนาคต ได้อย่างมั่นคง และสมดุลตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยในยุทธศาสตร์ซาติ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงภาพรวมโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) นายเกียรติศักดิ์ อมรประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมการผังเมือง ชี้แจงแนวทางการจัดทำผังภูมิสังคมฯ พร้อมด้วย พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้บริหารกรมโยธาธิการและผังเมือง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม และมีการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conferences system) ทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร