กรมชลประทาน น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวง ร.๙” 66 ปี “เขื่อนเจ้าพระยา”

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี เขื่อนเจ้าพระยา ณ บริเวณแท่นจารึกพระปรมาภิไธย และปล่อยพันธุ์ปลา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ณ แม่น้ำเจ้าพระยา หน้าที่ทำการสำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท

“เขื่อนเจ้าพระยา” เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีช่องระบายให้น้ำไหลผ่านขนาดกว้างขนาด 12.50 เมตร จำนวน 16 ช่อง ประตูน้ำสำหรับเรือสัญจรติดกับเขื่อน เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้ และมีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินสร้างบนคันกั้นน้ำซ้ายมือเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อช่วยระบายน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย ลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 4 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อการอุปโภค บริโภค บรรเทาอุทกภัย และแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุน จึงเป็นที่มาของการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาแห่งนี้

โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ.2495 จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2500 และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเขื่อน ยังความปลาบปลื้มให้แก่พสกนิกร และเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาถึง 66 ปี แล้ว ที่ชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องตลอดมา

และในวันนี้ เขื่อนเจ้าพระยาก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์ให้พื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากเขื่อนแห่งนี้มาตลอดกว่า 7.5 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบัน “เขื่อนเจ้าพระยา” ถือเป็นสายเลือดใหญ่ที่ใช้ประโยชน์ทางด้านชลประทานและการทดน้ำเพื่อการเกษตร โดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลางและอ่าวไทย ส่งต่อไปยังพื้นที่เพาะปลูกภาคกลาง เข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่รวม 5 สาย คือ แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง คลองชัยนาท-ป่าสัก และคลองชัยนาท-อยุธยา อีกทั้งยังใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับให้ประชาชนชาวชัยนาทได้ใช้ส่วนหนึ่งด้วย