ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ปัตตานี (60 มม.) จ.นราธิวาส (52 มม.) และ จ.สงขลา (38 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 37,218 ล้าน ลบ.ม. (64%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 29,921 ล้าน ลบ.ม. (63%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตรวจเยี่ยมโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทั่วประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่พื้นที่ 500 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเติมน้ำใต้ดิน และการดูแลรักษาระบบประปาบาดาล พื้นที่บ้านหนองเม็ก หมู่ที่ 5 ต.คึมใหญ่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ และได้ดำเนินการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านบ่อวงคอนกรีต ในพื้นที่ ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ เสริมความมั่นคงด้านน้ำและรองรับความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ตรวจราชการในพื้นที่ จ.ยโสธร และมุกดาหาร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ความก้าวหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ปี 2565/66 และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. สรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ จ.ยโสธร และผู้แทนกรมชลประทาน นำเสนอผลการดำเนินงาน
โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.ยโสธร ตามงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ 2566 มีทั้งสิ้น 25 โครงการ ดำเนินการโดย 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุกักเก็บ 1.79 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 14,713 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 3,926 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 2,000 ไร่ เช่น แก้มลิงบ่อโจ้โก้พร้อมระบบส่งน้ำ อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยกะหล่าว อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำกุดน้ำจั้น และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ส่วนโครงการสำคัญในปี 67-68 จำนวน 17 โครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำลำเซบาย แก้มลิงหนองเขื่อง และแก้มลิงกุดชีเฒ่า
สำหรับโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.มุกดาหาร ตามงบบูรฯ ปี 66 มีทั้งสิ้น 25 โครงการ จาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และการประปาส่วนภูมิภาค เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มความจุกักเก็บ 0.13 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 13,780 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 3,701 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 3,850 ไร่ เช่น ประตูระบายน้ำห้วยมุก สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ การก่อสร้างระบบกระจายน้ำสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ข้าว และงานวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ส่วนโครงการสำคัญในปี 67-68 จำนวน 3 โครงการ เช่น การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยมุก ระบบป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนเมืองมุกดาหาร ระยะที่ 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเปื่อย