รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการบริหารจัดการลูกหนี้

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการบริหารจัดการลูกหนี้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีนายสุรพล แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี รายงานวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการบริหารจัดการหนี้ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและเพื่อให้มีแนวทางการดำเนินงานในด้านการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย พัฒนาการจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการพัฒนาชุมชน พนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พัฒนากร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี รวมจำนวน 64 คน

นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและ พรบ.เงินทุนหมุนเวียน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนให้ถูกต้อง ชัดเจน ตรวจสอบได้ และสามารถปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนงานในการบริหารจัดการหนี้สำเร็จและบรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น ระดับส่วนกลาง และระดับส่วนภูมิภาคที่เป็นระดับปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ รวมถึงคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกระดับและกลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยหนี้เกินกำหนดชำระของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสามารถแบ่งเป็น หนี้ก่อนควบรวม (ปี 2556 – 2559) และหนี้หลังควบรวม ตั้งแต่ปี 2560

ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน จึงจำเป็นต้องมีการค้นหาข้อเท็จจริงและติดตามในพื้นที่ การบริหารจัดการตั้งแต่ “การบริหารสัญญา” ที่มีการควบคุมฐานข้อมูลในการอนุมัติโครงการ เช่น จำนวนโครงการที่เสนอขออนุมัติ จำนวนโครงการที่ได้อนุมัติแล้ว “การบริหารโครงการ” ที่มีการลงพื้นที่ติดตามการใช้เงินให้ตรงตามวัตถุประสงค์ การส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ ผลิตภัณฑ์ ช่องทางการตลาด ฯลฯ และ ”การบริหารหนี้” ที่มีการทำฐานข้อมูลลูกหนี้ในการแยกประเภทลูกหนี้เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการติดตามและบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโดยอาจใช้เทคนิคของแต่ละพื้นที่ที่เป็นไปตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เช่น “ 3 ต “ (ตรวจสอบ เตือน และติดตาม)

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนงานดังกล่าว ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ความเอาจริงเอาจัง ความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนงาน ซึ่งเชื่อได้อยู่แล้วว่าผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ล้วนมีความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนงานให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรียังคงอยู่คู่กับสตรีได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้สตรีและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อสมาชิกกองทุนฯ มีความเข้มแข็ง กลุ่มอาชีพสมาชิกที่กู้ยืมเงินจะเข้มแข็ง มีความมั่นคงด้านรายได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน ชุมชนและเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของกรมการพัฒนาชุมชน “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้าย