ธนาคารโลก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสภาพัฒน์ฯ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน ในโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาของกรมทางหลวงชนบท

นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่กรมทางหลวงชนบท (ด้านสำรวจและออกแบบ) นายชัยยุทธ เขียวจันทร์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 12 และ นายดำรงศักดิ์ คงช่วย วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 14 นำผู้แทนธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา” ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ณ อาคารประชุมเทศบาลตำบลจองถนน จังหวัดพัทลุง ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีตัวแทนเจ้าของที่ดิน ผู้อุทิศที่ดิน ฝั่งจังหวัดสงขลา – พัทลุง ผู้แทนประมง ส่วนราชการในพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่โครงการได้ให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางในด้านต่าง ๆ อาทิ

1. ด้านสังคม ประชาชนต้องการให้ก่อสร้างสะพานฯ เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัด โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้อุทิศที่ดินบางส่วนให้กับโครงการ เพราะมีวัตถุประสงค์ต้องการให้เป็นสาธารณะประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป

2. ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะโลมาอิรวดีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์รอบทะเลสาบสงขลา อาทิ การกำหนดมาตรการในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยทุกฝ่ายต้องบูรณาการร่วมกัน รวมถึงการยอมรับและนำไปปฏิบัติตามแนวทางที่ได้กำหนด ควรห้ามการใช้เครื่องมือประมงบางประเภทที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของโลมาอิรวดี และควรสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

3. ด้านการก่อสร้าง ควรนำความเห็นของทุกภาคส่วนไปศึกษา และกำหนดแนวทางเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในอนาคต

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา มีวงเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 4,841 ล้านบาท โดยในส่วนของค่าก่อสร้างมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณแบ่งเป็น 70:30 สัดส่วนเงินกู้คิดเป็นวงเงิน 3,290 ล้านบาท และสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีคิดเป็นวงเงิน 1,410 ล้านบาท ส่วนค่าจ้างควบคุมงานคิดเป็นวงเงิน 141 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน – อ่าวไทย เชื่อม 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา

ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวง แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางในกรณีเกิดภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) รูปแบบสะพานประกอบด้วยสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร รวมถึงบริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น