นายกฯ ตู่ มอบ รมว.สุชาติ เจรจาขยายตลาดแรงงานฝีมือฮ่องกง หวังโกยเงินเข้าประเทศ

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นำทีมผู้บริหารจากกระทรวงแรงงาน เข้าพบ Mr. SUN Yuk Han, Cris, JP Secretary for labour and Welfare และคณะเพื่อหารือข้อราชการและกระชับความร่วมมือด้านแรงงาน ในการส่งเสริมการเปิดรับตลาดแรงงานฝีมือ/อาชีพ ณ อาคารรัฐบาลกลาง ฮ่องกง

นายสุชาติ กล่าวว่า ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยและมีนโยบายให้พี่น้องแรงงานทุกคนจะต้องมีอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน จึงสั่งให้ผมเร่งขยายตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ มีทักษะ ไปทำงานในต่างประเทศ ในวันนี้ผมจึงได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานมาร่วมกันหารือและขยายตลาดแรงงานที่ฮ่องกง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของการเยือนระดับสูงจากไทยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยในครั้งนี้ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อกระชับความร่วมมือด้านแรงงาน รวมถึงส่งเสริมให้ฮ่องกงเปิดตลาดสำหรับแรงงานฝีมือ/วิชาชีพจากไทยมากขึ้น

ในส่วนของกระทรวงแรงงานมีความพร้อมในการจัดเตรียมแรงงานตั้งแต่ต้นทางก่อนไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้เรียนภาษาท้องถิ่น ภาษาอังกฤษ การอบรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตในฮ่องกงก่อนเดินทางไปทำงาน โดยมีสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง เป็นศูนย์รวมด้านการบริการจ้างแรงงาน ตลอดจนดูแลแรงงานไทยตั้งแต่ต้นจนครบสัญญาจ้าง และต้องขอบคุณรัฐบาลฮ่องกงเป็นอย่างสูงที่ดูแลแรงงานต่างชาติรวมถึงแรงงานไทยในฮ่องกงเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายตลาดแรงงานไทยในฮ่องกงครั้งนี้ จะเป็นโอกาสแก่แรงงานฝีมือของไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงแรงงานสามารถจัดหาแรงงานฝีมือตามที่ฮ่องกงขาดแคลน เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ พนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอาคาร แรงงานภาคการก่อสร้าง ช่างซ่อมบำรุง พนักงานขนส่งในสนามบิน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสนามบิน พ่อครัวแม่ครัว เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสมาคมนายจ้างฮ่องกง เพื่อให้เกิดการจ้างงานแบบยั่งยืน เป็นการส่งเสริมความร่วมมือภาคแรงงาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย  โดยสามารถตอบสนองอุปสงค์และอุปทานของแต่ละฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ