ข่าวดีต่อเนื่อง!! “กรมทะเลชายฝั่ง” แจ้งพบร่องรอยแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เพิ่ม

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กรม ทช.) โดยสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ส่วนส่งเสริมและประสานเครือข่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) ได้รับแจ้งจากคุณ EVE LAURA LOUISE PILMORE นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ และ นายสมชาย ประดิษฐ์ ราษฎรตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 04:28 น. ที่ผ่านมาว่าพบร่องรอยของแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่

ในการนี้ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท. อทช.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณชายหาดบ้านนอกนา ม.2 ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พิกัด 417836 E 995323 N พบร่องรอยดังกล่าว จึงตรวจวัดขนาดพายหน้าจากซ้ายไปขวา 190 ซม. ขนาดอก 85 ซม. จากการวัดขนาดดังกล่าว คาดว่าเป็นแม่เต่ามะเฟืองคนละตัวกับแม่เต่ามะเฟือง (แม่อัลฟ่า) ที่ขึ้นวางไข่ที่ อ.ตะกั่วทุ่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ขุดค้นหาจนพบไข่เต่ามะเฟือง ที่ความลึก 76 ซม. ขนาดไข่ 5.3 ซม. ตรวจสอบแล้วบริเวณหลุมฟักไข่ไม่อยู่ในแนวน้ำทะเลท่วมถึง จึงไม่ย้ายไข่ โดยได้ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ พร้อมกั้นคอกเพื่อป้องกันอันตราย และเฝ้าพิทักษ์ดูแลร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พี่น้องเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ รรท.อทช. ยังกล่าวอีกว่า วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2566) กรม ทช. โดยสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 9 (บางวัน พังงา) และ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) พร้อมด้วยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ร่วมกันติดตามสถานการณ์หลุมฟักไข่เต่ามะเฟือง หลังตรวจพบปากหลุมรังฟักไข่รังที่ 3 ยุบตัวตั้งแต่เวลา 03:30 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 00.00 น. ลูกเต่ามะเฟืองได้ทยอยขึ้นปากหลุม เจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์จนไม่มีลูกเต่ามะเฟืองขึ้นมา จึงช่วยเปิดปากหลุม และขุดช่วยเหลือลูกเต่าที่เหลืออยู่ขึ้นมาจากหลุมนำไปปล่อยลงสู่ทะเล จำนวน 73 ตัว นำไปอนุบาลที่ ศวอบ. จำนวน 25 ตัว ไข่เต่ามะเฟืองไม่มีน้ำเชื้อ จำนวน 16 ฟอง และลูกเต่ามะเฟืองตายแรกคลอด จำนวน 5 ตัว คิดเป็นอัตราการฟัก 87% อัตราการรอดตาย 95% ซึ่งรังไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 3 นี้เป็นรังที่ตรวจพบเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 จำนวนไข่ 119 ฟอง นับเป็นวันที่ 57 หลังจากที่พบแม่เต่ามะเฟือง (แม่อัลฟ่า) ขึ้นมาวางไข่ นับเป็นข่าวดีต่อเนื่องที่มีทั้งแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เพิ่ม และลูกเต่ามะเฟืองฟักออกจากไข่

อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์และดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพราะเต่าทะเลเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลหายากของไทย โดยลูกเต่าทะเลมีอัตราการรอดเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้เพียง 1 ใน 1,000 ตัวเท่านั้น จึงเน้นย้ำการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ดูแล อีกทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในการให้ข้อมูลด้านสัตว์ทะเลหายากและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้วย “นายอภิชัย กล่าว