กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล เพื่อเตรียมดำเนินโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ณ บ้านหนองคล้า หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และติดตามผลการเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ณ บ้านลำพัง หมู่ที่ 1 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 37,523 ล้าน ลบ.ม. (65%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 30,185 ล้าน ลบ.ม. (63%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,193 ล้าน ลบ.ม. (83%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,146 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,519 ล้าน ลบ.ม. (63%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 29,845 ล้าน ลบ.ม. (63%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 8,268 ล้าน ลบ.ม. (38%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,383 ล้าน ลบ.ม. (39%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดราชบุรี ได้มอบนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำท่าจีน และแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย โดยให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการทำงาน นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ รองรับการพัฒนาของจังหวัด เร่งดำเนินการขยายเขตการบริการน้ำประปาของโรงผลิตน้ำโพธาราม กปภ.สาขาสมุทรสาคร ซึ่งมีปริมาณน้ำดิบเพียงพอที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตน้ำประปาให้สอดคล้องกับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง