สำเร็จ! รมว.สุชาติ ส่ง อธิบดีนิยม กาวใจ ข้อพิพาทระหว่างบริษัท ไทยคิคูวาฯ กับสหภาพแรงงาน ชลบุรี ยุติ

รมว. สุชาติ มอบหมายให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นำทีมลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างผู้แทนบริษัท ไทยคิคูวา อินดัสทรีส์ จำกัด กับผู้แทนลูกจ้าง ผู้แทนสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ภายใต้หลัก “แรงงานสัมพันธ์ที่ดี” ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องยุติข้อพิพาทและทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน พร้อมเดินหน้าจับมือทำงานร่วมกันต่อไป

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีข้อพิพาทแรงงาน ระหว่างบริษัท ไทยคิคูวา อินดัสทรีส์ จำกัด กับสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ชลบุรี ว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ผมได้มอบหมายให้ นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นำทีมงาน ลงพื้นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างบริษัท ไทยคิคูวา อินดัสทรีส์ จำกัด กับสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ไทย โดยได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนมาถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 เพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่างนายจ้างที่มีอำนาจตัดสินใจกับลูกจ้างภายใต้หลัก “แรงงานสัมพันธ์ที่ดี” กระทั่งสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันจนเป็นที่ยุติของทั้งสองฝ่าย สามารถทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างร่วมกัน ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์บนพื้นฐานของ “แรงงานสัมพันธ์ในมิติของภาคี” โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นกาวใจให้ทั้งสองฝ่ายผสานใจด้วยความเข้าอกเข้าใจ เพื่อจับมือเดินหน้าก้าวต่อไปอย่างราบรื่นและสัมฤทธิ์ผล

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ผมได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ตรวจราชการกรม สค.ชลบุรี พนักงานประนอมฯ สรส. สสค.ชลบุรี ให้เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงาน ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงาน ซึ่งผลสรุปที่ได้คือทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะยุติข้อพิพาทและทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน มีสาระสำคัญ ได้แก่ บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2565 – 2567,ปรับค่าจ้างประจำปี 2566 – 2568, ปรับเพิ่มค่าครองชีพ และปรับปรุงระเบียบว่าด้วยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) โดยมีผลบังคับ ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2568 และตามเงื่อนไขความตกลงของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ผมขอเน้นย้ำให้นายจ้าง ลูกจ้างใช้การเจรจาร่วมกันด้วยเหตุผล โดยนายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมา โดยยึดหลักสุจริตใจ และขอให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขด้วย