วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามในบันทึกความร่วมมือ กับ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส อิงค์ (AWS) ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ที่ครอบคลุมและได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านเทคโนโลยีคลาวด์ของกระทรวง อว. นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ลงนามร่วมกับ จูเลี่ยน เลา ผู้จัดการฝ่ายขายกลุ่มลูกค้าภาครัฐ ภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของ Amazon Web Services พร้อมด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วมงาน
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ปลัด อว. กล่าวว่า เนื่องจาก อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ได้ตกลงแสดงความจำนงที่จะลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเทคโนโลยีคลาวด์ในประเทศไทย ทำให้การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องนี้รวมทั้งการพัฒนาต่อไป ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีผลต่อการดำเนินการทั้งในชีวิตประจำวัน การดำเนินงานและในทุกๆ เรื่องที่สำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลกก็จะใช้เทคโนโลยีพื้นฐานด้านดิจิทัลเป็นสำคัญ สอดคล้องเข้ากับการปฏิบัติงานในปัจจุบันและอนาคต การทำงานในทุกที่ทุกเวลาที่ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ ถึงแม้จะอยู่ต่างกันคนละจุด สิ่งเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “คลาวด์”
ปลัด อว. กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ กว่า 200 แห่ง รวมทั้งสถาบันวิจัยในรูปแบบต่างๆ ประมาณ 30 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เป็นสมองของประเทศ จะช่วยกันขับเคลื่อนรวมถึงผลิตกำลังคน ความร่วมมือครั้งนี้มีมิติสำคัญทั้งในแง่ของการพัฒนาประเทศ การปฏิบัติงานของภาคเอกชนระดับโลก สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยภูมิภาคจากการใช้โครงสร้างพื้นฐานของคลาวด์ ทั้งนี้ในการที่จะพัฒนากำลังคนที่จะร่วมดำเนินการในโครงการนี้ บุคลากรต่างๆ ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินงานก็ต้องเป็นคนไทยที่เกี่ยวข้องดำเนินการดูแลระบบทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้น ได้ใช้ประโยชน์ทุกๆด้าน ดังนั้น บทบาทสถาบันการศึกษาของกระทรวง อว. ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตกำลังคนเตรียมกำลังคนในเรื่องนี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นี่คือสาระสำคัญของการร่วมมือกันในครั้งนี้
นอกจากนั้นหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวง อว. ได้แก่ ภาคการศึกษาภาควิจัยภาควิชาการมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีและวิธีการชั้นสูงต่างๆ เหล่านี้ ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากการที่กระทรวง อว. จะพัฒนากำลังคนผลิตกำลังคนเพื่อที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้แล้ว ก็ยังมีการพัฒนากำลังคนของกระทรวง อว. เพื่อที่จะสามารถเข้าใจ เข้าถึง และสามารถใช้การในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยการพัฒนาการศึกษาทำอย่างไรที่จะนำระบบคลาวด์มาทำให้ระบบการศึกษาของไทยยิ่งพัฒนาต่อไป รวมทั้งการที่นำไปใช้ประกอบในการทำงานวิจัย สนับสนุนการวิจัยทั้งในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ
“การลงนามในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะยกระดับความรู้ ทักษะในการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ พัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ ในการทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีทั้งทักษะและความสามารถ มีปริมาณที่เพียงพอกับการพัฒนาเทคโนโลยีนี้กับประเทศทั่วโลก ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมมือในระยะยาว เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น หวังว่าจะทำให้เห็นว่าประเทศไทยมุ่งจะใช้เทคโนโลยี ใช้บุคลากรทั้งในแง่ของการรับเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงต่อไป” ปลัด อว. กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน จูเลี่ยน เลา ผู้จัดการฝ่ายขาย กลุ่มลูกค้าภาครัฐ ภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของ AWS กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้สนับสนุน อว. ในการเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ด้วยบริการนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คุ้มค่าและปลอดภัย รวมถึงการยกระดับบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาและการวิจัยในประเทศไทย “อว. มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากคลาวด์และทำให้ทุกห้องเรียน สำนักงาน และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์ของคลาวด์ได้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย” จูเลี่ยน เลา กล่าวในตอนท้าย
เทคโนโลยีคลาวด์จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประหยัดต้นทุนและมีความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนสถาบันอุดมศึกษาไทยให้เป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การประมวลผลประสิทธิภาพสูง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิง (ML)