เรื่อง กรมที่ดินชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีประชาชนบุกปล่อยตัวเงินตัวทองภายในสำนักงานที่ดิน

ตามที่สื่อมวลชนทุกแขนงรายงานข่าว กรณีมีประชาชน ๒ ท่าน ได้เข้าไปร้องเรียนและโวยวายพร้อมปล่อยตัวเงินตัวทอง จำนวน ๔ ตัว เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ในการรังวัดสอบเขตที่ดินของตน จนสร้างความตื่นตระหนกของประชาชนที่มารับบริการภายในสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง นั้น

กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ที่ดินแปลงพิพาทมี นายอับบาส โมฮัมเม็ดอาลี เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๖๕ ได้มาโดยการจดทะเบียนหลุดเป็นสิทธิของ นายมอหะหมัด อาลี (บิดา) เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๔ ต่อมานายอับบาสฯ ได้จดทะเบียนเป็นผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งของศาล เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ และได้มาขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ทำให้มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว กับกระทรวงการคลัง จนเป็นเหตุให้ นายอับบาสฯ ฟ้องกระทรวงการคลังกับพวก เป็นคดีความแพ่ง เกี่ยวกับที่ดินฐานละเมิด และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ ๙๘๔/๒๕๕๙ คดีจึงถึงที่สุด เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ต่อมานายอับบาสฯ ยังคงมายื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินใหม่เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ จนเป็นเหตุให้เกิดกรณีร้องเรียนของนายอับบาสฯ ต่อกรมที่ดิน เรื่อง ติดตามเอาทรัพย์คืน ขอให้รับรองการดำรงอยู่ของที่ดิน และขอให้ปักหมุดหลักเขตที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการฯ ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรมที่ดินจึงพิจารณาและมีหนังสือแจ้งผู้ร้องทราบแล้ว เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๑ โดยสรุปว่า

“เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๔๖๕ กลายเป็นแม่น้ำไปหมดแล้ว สภาพที่ดินบริเวณนั้นจึงกลายเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามนัยมาตรา ๑๓๐๔ (๒)

แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่งผลให้ความเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินสิ้นสุดลง ไม่สามารถยื่นทำการรังวัดที่ดินดังกล่าว ตามนัยมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจกรมที่ดินในการรับรองการดำรงอยู่ของที่ดินได้

……………………………………………………………………………..