รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 26 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 26 มกราคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานของระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2559 ณ โรงเรียนบ้านดอนกลอยดอนอุดม หมู่ที่ 11 ตำบลนาบัว อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 26 – 27 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนในช่วงวันที่ 28 – 31 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 2 – 4 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 38,463 ล้าน ลบ.ม. (66%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,026 ล้าน ลบ.ม. (65%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,291 ล้าน ลบ.ม. (85%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,146 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,919 ล้าน ลบ.ม. (66%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 30,792 ล้าน ลบ.ม. (65%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,318 ล้าน ลบ.ม. (33%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,960 ล้าน ลบ.ม. (34%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร เพื่อแสดงเจตจำนงในการร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำหรับความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความเข้าใจในบทบาทภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายใต้ระเบียบและกฎหมาย รวมถึงสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานของบุคลากรแล้ว ยังทำให้ทั้ง 2 หน่วยงานสามารถประสานการปฏิบัติและบูรณาการจัดการในภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ