กระทรวงยุติธรรม รับเรื่องร้องทุกข์ 3 กรณี

ในวันพุธที่ 25 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องร้องทุกข์กรณีทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ พาญาติของลูกจ้างคนไทยที่ทำงานบนเรือซึ่งเสียชีวิตแบบมีเงื่อนงำบนเรือต่างชาติให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ชาวบ้านในจังหวัดมหาสารคามถูกกำนันอ้างว่าเป็นผู้มีอิทธิพลยักยอกเงินโดยขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กรณีคุณป้าโอนเงินซื้อสินค้าแต่ไม่ได้ และออแกไนซ์เทงานแต่งงาน ให้กระทรวงยุติธรรมช่วยเร่งรัดเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดี ณ บริเวณด้านหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข (ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม) ชั้น 1 อาคารกระทรวงยุติธรรม

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤตฯ กล่าวว่า กรณีแรกเป็นกรณีลูกเรือได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ซึ่งตอนแรกได้รับแจ้งว่าเป็นอุบัติเหตุของตนเองทำให้เสียชีวิต แต่ทางกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้ยุติธรรมจังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด จึงได้ความเป็นหนังสือ 1 ฉบับ ว่าการเสียชีวิตดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของผู้อื่น แต่ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วกระทรวงยุติธรรมได้นำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการฯ ของการเยียวยากระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วว่า เรื่องดังกล่าวยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงให้สอบเพิ่มเติมจนในที่สุดได้รับหนังสือในวันที่ 17 มกราคม 2566 จากพนักงานสอบสวนว่า เป็นการกระทำของผู้อื่นทำให้เสียชีวิต ดังนั้นทางกระทรวงยุติธรรมจึงจะนำเข้าพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 จึงแจ้งสิทธิการเยียวยาให้คุณแม่ผู้เสียชีวิต เนื่องจากเป็นไปตามเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔  และอีกประเด็นคือ หากเป็นการกระทำโดยประมาท นายจ้างต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจะมอบหมายให้กองทุนยุติธรรมช่วยเหลือในการหาทนายความฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม หรืออาจจะยื่นคำร้องต่ออัยการให้เรียกค่าเสียหายไปในคดีอาญาในคราวเดียวกัน สำหรับคดีความจะมอบหมายให้ยุติธรรมจังหวัดติดตามเรื่องคดีต่อไป

กรณีต่อมาผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนจากนักการเมืองท้องถิ่นที่มีลักษณะของการร่วมลงทุนและทำให้เกิดความเสียหาย และไม่ได้รับเงินคืนตามที่ลงทุนไป มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก โดยนักการเมืองท้องถิ่นนั้น ทางผู้เสียหายเองถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพล ดังนั้นต้องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่ามีเหตุอันตราย และจะได้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจัดชุดคุ้มครองพยานกับผู้เสียหาย สำหรับการติดตามคดีความว่าเป็นในลักษณะของการฉ้อโกงประชาชนด้วยหรือไม่ หากเป็นลักษณะการเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน โดยปกติทั่วไป พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับดำเนินการ แต่หากว่าเงื่อนไขที่มีจำนวนคนเป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าทรัพย์สินเป็นหลักร้อยล้านขึ้นไป ก็อาจจะรับเป็นคดีพิเศษ ดังนั้นวันนี้ทางผู้เสียหายได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับยุติธรรมจังหวัดมหาสารคาม โดยจะแจ้งไปยังยุติธรรมจังหวัดให้รับเรื่องนี้โดยตรง  เพื่อรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานให้ทางพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดี เรียกตัวผู้ต้องหามาสอบปากคำ ถ้าหากเป็นไปในลักษณะดังกล่าวคงจะต้องมีการตั้งข้อหาและดำเนินคดี ตลอดจนติดตามยึดทรัพย์สินคืนให้พี่น้องประชาชนที่วันนี้ได้รับความเดือดร้อน

กรณีที่สามเป็นกรณีที่ผู้เสียหายมีผู้เสนอขายพวงกุญแจตุ๊กตา โดยผู้เสียหายได้โอนเงิน แต่กลับไม่ได้รับของ และไม่โอนเงินคืน กระทรวงยุติธรรมจะดูแลช่วยเหลือในประเด็นข้อกฎหมาย และจะมอบหมายให้ยุติธรรมจังหวัดสิงห์บุรี ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น และประสานตำรวจพิจารณาว่าเข้าข่ายฉ้อโกง หรือเป็นลักษณะของการผิดสัญญาหรือไม่ และสภาพร่างกายของคุณป้าไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตปกติ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กระทรวงสาธารณสุข ดูแลการรักษาพยาบาล และในส่วนของบุคคลที่ได้รับความเสียหายในลักษณะคล้ายกัน กระทรวงยุติธรรมรับเรื่องไว้และจะดำเนินการประสานงานเรื่องนี้ต่อไป

กรณีสุดท้ายเป็นเรื่องของการจัดออแกไนซ์งานแต่งงาน แต่เป็นออแกไนซ์ที่ไม่มีอยู่จริง หลายคนคือผู้ที่เสียหายที่เกิดขึ้นจากการจ่ายเงินไป หากมีการโฆษณาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก็คงเป็นเรื่องที่นำข้อมูลอันเป็นเท็จ หากไม่ได้มีการทำตรงส่วนนี้จริงแล้วปิดเฟซบุ๊คหนี จะได้ดำเนินคดีและติดตามเรื่องนี้ แต่ถ้าจำนวนผู้เสียหายยังมีจำนวนไม่มากให้ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน แต่หากว่ามีจำนวนผู้เสียหายมาก ก็สามารถที่จะรับเป็นเรื่องของคดีพิเศษได้