กศน. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการศึกษาและมีการมีงานทำให้แก่ นักเรียน นักศึกษา และแรงงาน

นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. มอบหมายให้ นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ในฐานะคณะกรรมการด้านการพัฒนาหลักสูตร และด้านการพัฒนาบุคลากรและครูผู้สอน พร้อมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการศึกษาและมีการมีงานทำให้แก่ นักเรียน นักศึกษา และแรงงาน ทุกระดับระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ กระทรวงแรงงาน โดยมี ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ตึกราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นางเอื้อมพร กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ได้พิจารณาหารือการเตรียมจัดงานแถลงผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงานใน 4 มิติ ได้แก่ 1.การสร้างระบบฐานข้อมูล Big Data และการส่งเสริมการมีงานทำ 2.การพัฒนาหลักสูตร และด้านการพัฒนาบุคลากรและครูผู้สอน ให้มีความเชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3.การทดสอบและจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและการประเมินและการจัดตั้งศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ 4.การส่งเสริมและพัฒนางานในการจัดการอาชีวศึกษาด้านทวิภาคีและการแข่งขันฝีมือแรงงาน

จากความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตร และด้านการพัฒนาบุคลากรและครูผู้สอนให้มีความเชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงานและกฏหมายที่เกี่ยวข้องนั้น สำนักงาน กศน. โดยกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานในการพัฒนาหลักสูตรอ้างอิงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จำนวน 17 หลักสูตร และได้พิจารณาดำเนินการเสนอศูนย์ฝึกอาชีพวงเดือน อาคมสุรทัณฑ์ จังหวัดอุทัยธานี จัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ด้าน อาหารไทย เป็นแห่งแรกของสำนักงาน กศน. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และจะมีการพัฒนาส่งเสริมหน่วยงานในสังกัดเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ต่อไปในอนาคต เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนหรือผู้เข้ารับการทดสอบในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และพัฒนาขีดความสามารถของตนเองตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในการวัดระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่ผ่านการทดสอบฯ ในสาขาอาชีพแต่ละระดับให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ การจ้างงานในตลาดแรงงาน และนายจ้างสามารถประกอบพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นอีกด้วย