สินิตย์ เลิศไกร ผลักดัน “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก” ขึ้นทะเบียน GI หวังดึงอัตลักษณ์ชุมชนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นไทยให้เข้มแข็ง

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าขึ้นทะเบียน GI มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก มั่นใจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มมะม่วงไทยสู่สากล พร้อมเดินหน้าจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า ส่งเสริมช่องทางการตลาด ตั้งเป้าส่งออกเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญถ่ายทอดคุณภาพและลักษณะเด่นของผลไม้ไทยสู่สายตาชาวโลก สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 11 ล้านบาทต่อปี

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นยกระดับเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่า เพิ่มให้กับสินค้าชุมชนผ่านเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้า ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาขานรับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยหลังจากขึ้นทะเบียน GI ได้ครบ 77 จังหวัด นำมาสู่การสร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชนถึง 48,000 ล้านบาท”

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก” ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของคุณภาพ รสชาติ และลักษณะ ที่โดดเด่น มีลักษณะทรงรียาว เปลือกสีเหลืองนวล ไม่ช้ำง่าย ผลสุกเนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น เนียน ไม่มีเสี้ยน เนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวาน กลิ่นหอม เมล็ดลีบบาง ปลูกในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 11 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น

นายสินิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การขึ้นทะเบียน GI เป็นการช่วยยกระดับสินค้าชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยหลังจากได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กรมฯ จะผลักดันให้จังหวัดจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้าและการอนุญาตให้ใช้ตรา GI ไทย การส่งเสริมการตลาด การเพิ่มมูลค่าผ่านการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลของสินค้า GI ผ่านช่องทางต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย รวม 177 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้มากกว่า 48,000 ล้านบาท”

“สำหรับวิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368” นายสินิตย์ กล่าวทิ้งท้าย