อพวช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย คัดตัวแทน 4 นักสื่อสารวิทย์ฯ ร่วมกิจกรรม ณ เยอรมนี ใน “โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย” ครั้งที่ 18

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และบริษัท ทรู คอปเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คัดตัวแทน 4 นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมระดับประเทศ ใน โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 18 (Young Thai Science Ambassador, YTSA#18)

เพื่อสร้างนักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคมที่พร้อมผลักดันสังคมวิทยาศาสตร์ของประเทศให้เข้มแข็งต่อไป พร้อมเตรียมลัดฟ้าร่วมกิจกรรมด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี ในเดือน ก.ค. 66 ต่อไป

ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 18 ขึ้น ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ โอกาสที่เท่าเทียม – Equal Opportunities in Science” ภายใต้แนวคิด “ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในวงการวิทยาศาสตร์ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของความคิดเรื่องความเหนือกว่าทั้งหลาย รวมทั้งส่งเสริมให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างความเท่าเทียมในสังคม” ซึ่งถือเป็นโครงการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเรื่องราววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่สังคม เพื่อสร้างนักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ในการผลักดันสังคมวิทยาศาสตร์ในประเทศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

ในปีนี้ ผู้ที่สามารถคว้ารางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม มีทั้งสิ้น 4 ท่าน พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยในการร่วมกิจกรรมด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี เดือนกรกฏาคม 2566 ได้แก่ 

1. นางสาวศริญญา จิตคล่องทรัพย์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อผลงาน : ทำไปทำไม-ดินดวงจันทร์เทียมสัญชาติไทย เศษหินที่ปลดล็อคอวกาศ

2. นายชาคริต พุฒศรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ชื่อผลงาน : สร้างความเท่าเทียมไปกับครูวิทย์ฯ-Stop bullying by Social media and Science

3. นายภัทรดา ผาเหลา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ชื่อผลงาน : Science Sound Podcast -ในความเท่าเทียมมีอะไรไม่เท่าเทียม

4. นางสาวพัชรากร รุนรอด จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อผลงาน : sci -tourism-ชีวิตที่หายไปกับน้ำ ณ แดนอาทิตย์อุทัย

และ รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 6 รางวัล ได้รับทุนการศึกษาคนละ 5,000 บาท พร้อมโอกาสได้ร่วมงานกับ อพวช. ในภารกิจต่าง ๆ ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ต่อไป ได้แก่

1. นายธนยศ จุลภักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อผลงาน : Insight Into Your Life – เพียงโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง ก็สร้างรายได้ให้เกษตรกร

2. นายปวริศร์ เปี่ยมปรีชา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อผลงาน : May I have your attention? – Med you (met you)

3. นายชนะพงษ์ บุญมา จากมหาวิทยาลัยพะเยา ชื่อผลงาน : วิทยาศาสตร์ผ่านประสบการณ์-อำจริงหรืออัมพาต

4. นางสาวซากุระโกะ มาซุดะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อผลงาน : Science Innovation Podcast- Skin of the future

5. นายศักดิ์ชัย แซ่เฮ่ย จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชื่อผลงาน : เปิดโปงภัยไซเบอร์-Call Center

6. นางสาวโมทนา ปิ่นแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน : Looking forward (to the future)-ยา ความจน โอกาส และความหวัง

ดร.ชนินทรฯ รองผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ทั้ง 10 ท่าน และขอชื่นชมเยาวชนนักสื่อสารวิทย์รุ่นใหม่ทุกท่านที่มุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองในด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ นี้ เพื่อพัฒนาไปเป็นทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ โดยนำความรู้ที่ได้รับไปค้นคว้าต่อยอดและพัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป”