1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เฝ้าระวังคุณภาพน้ำบาดาล โดยดำเนินการตรวจสอบผ่านกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (TV Borehole) และติดตามสถานีสังเกตการณ์น้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะ ตามโครงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะ บริเวณพื้นที่ทิ้งขยะเทศบาลเมืองเสนา ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 4 บ่อ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตะหนักถึงความสำคัญของคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้เตรียมแผนการดำเนินงานในการติดตามคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะอย่างต่อเนื่อง
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่ได้แผ่ลงมาถึงประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกในช่วงกลางวันของวันที่ 24 ม.ค. 66 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีลมแรง โดยจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียสในวันที่ 25 ม.ค. 66 สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ ยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 38,755 ล้าน ลบ.ม. (67%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,282 ล้าน ลบ.ม. (65%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,326 ล้าน ลบ.ม. (85%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,148 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,037 ล้าน ลบ.ม. (66%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 31,041 ล้าน ลบ.ม. (66%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,064 ล้าน ลบ.ม. (32%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,843 ล้าน ลบ.ม. (33%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ณ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด โดยการนำน้ำที่ต้องระบายอยู่แล้วของเขื่อนผาจุกมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้าอีกครั้งก่อนระบายลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำตามเดิม ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการเกษตรและด้านพลังงานร่วมกัน เกิดความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานใหม่และการบริหารจัดการน้ำให้แก่ประชาชนของจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียง