สปส.พร้อมส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2566 เร่งขับเคลื่อนนโยบายปี 66 พัฒนางานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตนได้ประโยชน์สูงสุด

Featured Video Play Icon

ในงานแถลงข่าวสรุปผลงานเด่น ปี 2565 วันที่ 23 ม.ค.2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้กล่าวถึงของขวัญปีใหม่ ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พี่น้อง ผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จำนวน 4 ชิ้น และได้เริ่มดำเนินการแล้วในขณะนี้ คือ

ชิ้นที่ 1 ให้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน ในเรื่องของการมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยสำนักงานประกันสังคม ร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด จากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. “โครงการสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน” วงเงินให้กู้สูงสุดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 เท่ากับ 1.99% ต่อปี

ชิ้นที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด สำนักงานประกันสังคม ได้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพ การเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค โดยร่วมกับสถานพยาบาลที่บันทึกข้อตกลงร่วมมือการให้บริการ จำนวน 10 แห่ง แบ่งตามกลุ่มบริการ

1. การผ่าตัดมะเร็งเต้านม

2. ผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก

3. ผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี

4. หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง

5. หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะต้องมีการติดตามและประเมินผลเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผู้ประกันตนต่อไป

ชิ้นที่ 3 ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ซึ่งได้มีการ Kickoff โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ ในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนเชิงรุก โดยร่วมมือกับสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ และสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก ดังนี้

1.เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ

2.แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย

3.โรงพยาบาลนัดหมายประเมิน เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน

4.ติดตามผลระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม

เป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะนำไปสู่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย

ชิ้นที่ 4 ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง สำนักงานประกันสังคม ได้แก้ไขประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสีย ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้มีเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสียอยู่ที่ 200 ส่งผลให้นายจ้างที่ถูกเรียกเก็บเงินสมทบตามอัตราค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากอัตราเงินสมทบ ในปีที่ผ่านมา จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสีย และการเรียกเก็บเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ดังกล่าวมีระยะเวลาสูงสุดถึง 22 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว (การแก้ไขหลักเกณฑ์ส่งผลให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 229.22 ล้านบาท)

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงนโยบายในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของสำนักงานประกันสังคมที่จะเกิดขึ้นในปี 2566

การพัฒนางานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน 

สร้างการรับรู้ โดยการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร สาระความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันสังคมและสิทธิประโยชน์เพื่อเข้าถึงนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้นำ Social Media เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับสำนักงานประกันสังคมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้รับบริการ เน้นการปรับเปลี่ยนราชการสู่ความเป็นดิจิทัล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน อย่างโปร่งใส เข้าถึงง่าย รวดเร็ว แม่นยำ ลดความซ้ำซ้อน และสามารถเชื่อมโยงการบริการของหน่วยงานรัฐได้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อพี่น้องประชาชน การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้มีความทันสมัย คล่องตัว โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ซึ่งในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมได้ผ่านผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ได้คะแนน 90.24 อยู่ในระดับ A สร้างองค์กรที่เป็นสุขต้องสร้างความสมดุลให้ชีวิตทั้งการงาน ครอบครัว และสุขภาพ โดยการรักษาสมดุลในการบริหารงานและชีวิต Work Life Balance เปลี่ยนจากการทำงานหนัก บริหารชีวิตให้เหมาะสม รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์องค์กรให้มีความทันสมัย และรักษามาตรฐานการให้บริการตามมาตรฐานการให้บริการ ของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) และให้บริการกับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชน ให้ได้รับความสะดวกสูงสุด โดยยึดหลักพี่น้องประชาชน และผู้ใช้แรงงานเป็นศูนย์กลาง

การขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญ

การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนในทุกมาตรา โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ออกหน่วยเคลื่อนที่บริการเบ็ดเสร็จ (Service Delivery Unit) การรักษาอัตราการจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ผ่านกลไกเครือข่าย บวร และ “ครอบครัวประกันสังคม” ทั่วประเทศให้ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการเข้าสู่ระบบประกันสังคม และจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยแต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล (ไป-กลับ) เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีติดเชื้อโควิด 19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน ขยายอายุการรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน การติดตามเร่งรัดหนี้ เช่น เร่งรัดหนี้เงินสมทบ (ติดตามนายจ้าง) ปรับปรุงแนวปฏิบัติ และกระบวนการติดตามเร่งรัดหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การจ่ายประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิ (ติดตามผู้ประกันตน) กำหนดตัวชี้วัดรายจังหวัด การพัฒนาระบบสารสนเทศ ติดตั้งระบบเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พัฒนาระบบบริการ ทางการแพทย์ พร้อมการประชาสัมพันธ์เชิงรุก พัฒนาการสื่อสาร สร้างการรับรู้ เรื่องการประกันสังคม และภาพลักษณ์องค์กรที่ตรงใจ กระชับ ฉับไว เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า ผม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนงานประกันสังคมภายใต้แผนปฏิบัติราชการสำนักงานประกันสังคม ในระยะ 5 ปี (2566-2570) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรแห่งความเชื่อมั่น ด้านการให้บริการประกันสังคมที่ทันสมัย” สามารถสร้างหลักประกัน ทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศภาวะ และทุกกลุ่มนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป”

ผลงานเด่น สปส.กับภารกิจดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง ผู้ประกันตน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แถลงข่าว สรุปผลงานเด่น ปี 2565 ที่ผ่านมาของสำนักงานประกันสังคมกับภารกิจสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยมีผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม พร้อมสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ ห้องนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

นายบุญสงค์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญกับ “การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมโดยสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยทุกเพศภาวะและทุกกลุ่ม” ในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และภาคีเครือข่าย “ครอบครัวประกันสังคม” เพื่อแก้ปัญหาภายใต้แนวทาง “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” ร่วมกันสู้เพื่อก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน โดยดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงพัฒนาสิทธิประโยชน์ พัฒนาบริการทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อขับเคลื่อนงานประกันสังคม ให้เป็นที่ยอมรับเชื่อมั่น ไว้วางใจจากทุกภาคส่วน ในสังคม ภายใต้แนวความคิดในการขับเคลื่อน “SSO TRUST” โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมมีผลการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้

1. มาตรการให้ความช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด จากของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19

จัดตั้งศูนย์ตรวจคัดกรองโควิด 19 เพื่อให้บริการผู้ประกันตน นอกสถานพยาบาล จำนวน 13 แห่ง (สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น – ดินแดง ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร ภูเก็ต ระยอง อยุธยา ฉะเชิงเทรา สงขลา และสระบุรี) มีจำนวนผู้ประกันตนที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง จำนวน 526,657 ราย พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 23,705 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 640 ล้านบาท จัดหาโรงพยาบาล Hospitel ในเครือข่ายประกันสังคม รองรับผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จำนวน 24 จังหวัด จัดหาโรงพยาบาล Hospitel จำนวน 175 แห่ง รองรับผู้ประกันตน จำนวน 61,046 ราย การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด 19 สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย มีผู้ประกันตน ใช้สิทธิประโยชน์ จำนวน 4,550,115 ราย จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และสายด่วน 1506 กด 1 กด 6 และกด 7 เพื่อให้บริการสอบถามข้อมูลประสานและจัดหาสถานพยาบาลในการดูแลรักษา และการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40 มีผู้ใช้บริการ 2,5000,075 ราย ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ประกันตนฉีดวัคซีน เข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 แก่ผู้ประกันตน รวมทั้งหมด 3,3962,206 ราย แยกเป็นผู้ประกันตนที่เป็นชาวต่างชาติ 593,815 ราย และคนไทย 3,368,391 ราย โครงการ Factory Sandbox (ตรวจรักษา ควบคุม ดูแล) ครอบคลุมในพื้นที่ 12 จังหวัด มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 730 แห่ง ผู้ประกันตนได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด 19 จำนวน 407,770 ราย และได้รับวัคซีนจำนวน 112,746 โดส

2. มาตรการช่วยเหลือเยียวยา

ลดอัตราเงินสมทบ มาตรา 33 และ 39 ระหว่างปี 2563 – 2565 รวม 7 ครั้ง (21 เดือน) ลดภาระผู้ประกันตนกว่า 13.36 ล้านคน นายจ้าง 502,693 ราย มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 160,250 ล้านบาท มาตรา 40 ระหว่างปี 2564 – 2565 รวม 2 ครั้ง (12 เดือน) ลดภาระผู้ประกันตนกว่า 10.80 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 3,242 ล้านบาท จ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวจากคำสั่งปิดสถานที่ของรัฐ กรณีลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวเฝ้าระวังการระบาดของโรค โดยให้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบ จ่ายให้เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์รวม 2.73 ล้านคน เป็นเงิน 55,599.09 ล้านบาท เยียวยาแรงงาน กรณีปิดแคมป์คนงาน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบ มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ รวม 81,136 คน เป็นเงิน 412.65 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้กับสถานประกอบการมีธนาคารที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง 5 ธนาคาร คือ ธนาคาร UOB ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย จำนวนเงินสินเชื่อ ให้แก่สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม จำนวน 1,623 ราย วงเงิน 9,635.33 ล้านบาท สามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างในระบบไว้ได้ จำนวน 112,456 คน โครงการเยียวยาภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เช่น โครงการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบการ ผู้ประกันตนมาตรา 33 รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาจาก พ.รก.เงินกู้คนละ 5,000 บาท, โครงการ ม.33 เรารักกัน ให้ผู้ประกันตนจ่ายซื้อสินค้าและบริการ 8.067 ล้านคน วงเงิน 6,000 บาท เป็นเงิน 48,185,85 ล้านบาท, โครงการเยียวยาผู้ประกันตนกิจการสถานบันเทิง ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวน 148,409 ราย ฯลฯ

3. พัฒนาสิทธิประโยชน์

ประกันเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำ แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตรา การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ พ.ศ. 2560 ให้ได้รับเงินบำนาญครบ 60 เดือน ผู้รับบำนาญได้รับการคุ้มครอง ที่เป็นธรรมมากขึ้นและเป็นการรับประกันว่าจะได้รับบำนาญอย่างน้อย 60 เดือนใกล้เคียงกับเงินสะสมบำเหน็จชราภาพ ทำให้ผู้ประกันตนเกิดความมั่นใจในการรับบำนาญชราภาพ แก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้กับผู้ประกันตน และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีการขยายอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 15 – 60 ปี เป็น 15 – 65 ปี ขยายอายุขั้นสูงผู้ประกันตนมาตรา 33 (เดิม 60 ปี เป็น 65 ปี) เพื่อให้ สอดคล้องกับการกำหนดนิยามผู้สูงอายุ (Old age) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) การเพิ่มเงินทดแทน ขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร จาก 90 เป็น 98 วัน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเหมาจ่ายครั้งละ 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 98 วัน เงินสงเคราะห์บุตร ให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน กรณีชราภาพ 3 ขอ (ขอเลือก/ขอคืน/ขอกู้) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญชราภาพได้ หรือเลือกรับบำนาญใน 5 ปีแรกล่วงหน้าเป็นบำเหน็จ และรับเงินบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน สามารถนำเงินชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกันตน สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกัน กับสถาบันการเงินได้

4. พัฒนาบริการทางการแพทย์

ขยายระยะเวลา MOU การให้บริการทางการแพทย์กรณีรักษาด้วยการทำหัตถการด้านโรคหัวใจ และหลอดเลือดกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติ (เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2566) มีผู้ประกันตนเข้าไปใช้บริการจำนวน 329 ราย เป็นเงินจำนวน 62,978,198 บาท ลดขั้นตอนอนุมัติสิทธิฟอกเลือด โดยผู้ประกันตนและผู้ทุพพลภาพที่ประสงค์จะขอรับบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไตกรณีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ยื่นคำขอด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยแนบหลักฐานเอกสารประกอบคำขอ และให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาวินิจฉัยอนุมัติสิทธิบำบัดทดแทนไตให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย สามารถยื่นสิทธิการรักษาที่สถานพยาบาลได้ทันทีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ปรับปรุงค่าบริการทางการแพทย์กรณีรักษาโรคโควิด 19ดูแลรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นไปตามแนวทาง การรักษาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และหลักเกณฑ์และอัตราเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ลงวันที่ 29 เมษายน 2565 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

ขยายระยะเวลาให้บริการการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปี 2565 จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 – 31 สิงหาคม 2565 ขยายถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีผู้ประกันตนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำนวน 293,079 โดส

5. เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

เพิ่มช่องทางรับชำระเงินสมทบ จำนวน 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งปัจจุบันมี 14 ธนาคาร และ 1 หน่วยบริการ เพื่อให้บริการในการรับชำระเงิน พัฒนาและเพิ่มช่องทางการให้บริการเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนด้วยตนเองของผู้ประกันตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Self service) กองทุนประกันสังคม เพื่อยกระดับการให้บริการนายจ้างและผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบหรือทำรายการกับกองทุนประกันสังคมได้ทุกกิจกรรมที่เป็นข้อมูลของผู้ประกันตนและสถานประกอบการ เพิ่มช่องทางการรับสมัคร และขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผ่าน Application ทางรัฐ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพิ่มช่องทางการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่านเคาน์เตอร์ Boonterm Bill Payment (จุดชำระเงินของบิ๊กซีเดิม) ได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565

6. รางวัลแห่งความสำเร็จที่สำนักงานประกันสังคมได้รับในปี 2565 โดยได้รับ

– รางวัลคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี 2565

– รางวัลบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาด ของ CORONAVIRUS COVID 19” ในงาน SIAMRATH ONLINE AWARD 2022 ผ่านระบบออนไลน์ ทางเพจเฟสบุ๊คสยามรัฐ

– รางวัลด้านการประชาสัมพันธ์ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัล FINALIST จากงาน THAILAND SOCIAL AWARDS 2022 ที่เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการใช้ SOIAL MEDIA อย่างสร้างสรรค์

– รางวัล Best Official Account in Public Sector 2021 ซึ่งถือเป็นองค์กรภาครัฐที่สร้างความสำเร็จในการสร้างสรรค์การสื่อสารกับประชาชนผ่านแพลตฟอร์ม LINE ประเทศไทยได้อย่างยอดเยี่ยมแห่งปี 2564

หน่วยงานในสังกัดสำนักงานประกันสังคม ผ่านการรับตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน การให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สำนักงานประกันสังคมจังหวัดแพร่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดยโสธร สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชัยนาท สำนักงานประกันสังคมจังหวัดตราด

สำนักงานประกันสังคมได้รับประกาศเกียรติคุณ หน่วยงานที่มีการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยเป็นเลิศ (Certificate of Cyber Safety) โดยการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ภายใต้กิจกรรม Thailand Cyberscurity Excellence Award 2022 สอดคล้องกับแนวทางของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

– รางวัล ASSA Recognition Award สาขาเทคโนโลยีในการสื่อสารที่โดดเด่น จากการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ จากการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมการประกันสังคมอาเซียน ครั้งที่ 39 (39 th ASEAN Social Security Association Board Meeting) ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

7. การให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนเชิงรุก

สำนักงานประกันสังคมอยู่เคียงข้างผู้ประกันตนทุกสถานการณ์ เคียงข้างทุกวิกฤต หากเกิดเหตุการณ์หรือเหตุฉุกเฉินในกรณีที่มีผู้ประกันตนประสบเหตุต่างๆ สำนักงานประกันสังคม จะดำเนินการเชิงรุกลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด เพื่อนำข้อมูลมาเข้าสู่ระบบของสำนักงานฯ ให้ได้ นำมาสู่การให้ความช่วยเหลือให้กับผู้ประกันตนและญาติ เปรียบเสมือนบุคคลในครอบครัวโดยเร็วที่สุด