รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 มกราคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดชุดเจาะบ่อบาดาลตามแผนงานสนับสนุน สทนช. ในพื้นที่ บ้านศรีทายาท ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 318 ครัวเรือน

2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงแผ่ปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้ากับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุม อ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 39,368 ล้าน ลบ.ม. (68%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,824 ล้าน ลบ.ม. (67%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,396 ล้าน ลบ.ม. (87%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,149 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,304 ล้าน ลบ.ม. (68%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 31,569 ล้าน ลบ.ม. (67%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,480 ล้าน ลบ.ม. (30%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,552 ล้าน ลบ.ม. (30%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย Mr.Niall O’Connor ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม เอเชีย และ รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกขอบเขตการดำเนินงานโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำหรับการดำเนินงานโครงการครั้งนี้ มีโครงการวิจัยร่วมกัน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 การสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนด้านน้ำในระดับภูมิภาคล้านช้าง – แม่โขง และโครงการที่ 2 การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะด้านน้ำที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบนาข้าวระดับภูมิภาคล้านช้าง – แม่โขง เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน และการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายเยาวชนภูมิภาค รวมทั้งเป็นการยกระดับความสามารถของเกษตรกรในด้านการใช้น้ำ