กรมการแพทย์แผนไทยฯ เผย รพ.อู่ทอง พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อช่วยดูแล รักษาผู้ป่วยในชุมชน และเป็นต้นแบบ การให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย เขตสุขภาพที่ 5

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมคณะ ร่วมศึกษาดูงาน รพ.อู่ทอง จ.สุพรรรณบุรี ต้นแบบการดำเนินงาน การผสมผสานการบริการการแพทย์แผนไทย 3 ส่วนสำคัญ คือ การผลิตยาสมุนไพร การบริการด้านการแพทย์แผนไทย และการพัฒนา ศึกษาวิจัย ล่าสุดสามารถผลิตยาสมุนไพร ตามมาตรฐาน GMP ที่ใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน จำนวนกว่า 85 รายการ ที่ผ่านมาได้รับรางวัลการันตี นวัตกรรม การผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อดูแลผู้ป่วยในชุมชน เพิ่มโอกาสให้กับประชาชน ได้เข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำทีมศึกษาดูงานระบบการให้บริการ ทางการแพทย์ คลินิกการแพทย์แผนไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคคลากรกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมี นายแพทย์รัฐพล เวทสรณสุธี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี นายแพทย์กิตติพงษ์ อยู่สุวรรณ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี แพทย์หญิงสมพิศ จำปาเงิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอู่ทอง นายแพทย์ธเนศ ตติรัตน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลอู่ทอง ภญ.ดลิชา ชั่งสิริพร หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทย ภญ.ฉวีวรรณ ม่วงน้อย หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค ภก.อนุชิต ปลาทอง หัวหน้างานผลิตยา นางพัชรินทร์ มณีพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลอู่ทอง ให้การต้อนรับ ณ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุข เพื่อยังผลให้เกิดการสนับสนุนต่อระบบเศรษฐกิจ การผลิต การบริการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้รับการบริการทางการแพทย์ ทางสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางโรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีการดำเนินงานโดยประสานภาคีเครือข่ายทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ร่วมกับสหวิชาชีพในการดูแล รักษาประชาชน และยังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วย โดยพัฒนาโปรแกรม Home Health Care Uthong ซึ่งเป็นระบบทางไกลที่สามารถช่วยดูแลรักษา ช่วยชีวิตเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชน ไม่ต้องเดินทางเข้ามาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาล และเกิดความสะดวก ในการรักษาเพราะทางโรงพยาบาลอู่ทองสามารถติดต่อสื่อสาร ให้คำแนะนำ และรักษาร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จึงสะดวก ทั้งด้านการรักษา การดูแล และส่งต่อผู้ป่วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน ก็จะสามารถเข้าไปดูแลคนไข้ต่อได้ และบันทึกผลการรักษา การลงเยี่ยมผู้ป่วยหรือชุมชน ผู้ป่วยติดเตียง Palliative Care และ รายโรคอื่น ๆ ที่ รพ.ต้องติดตาม เยี่ยมบ้าน จึงทำให้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงและเป็นการ เพิ่มโอกาสให้กับประชาชนในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้มีความเสมอภาคทางการรักษา

นายแพทย์ธงชัย กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลอู่ทอง ยังมีความโดนเด่นทางด้านการแพทย์แผนไทย มีการผสมผสานการบริการการแพทย์แผนไทย และดำเนินการใน 3 ส่วน ได้แก่ การผลิตยาสมุนไพร การบริการด้านการแพทย์แผนไทย และการพัฒนา ศึกษา วิจัย 1.การผลิตยาสมุนไพร มีการส่งเสริมกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรในชุมชน เพื่อส่งวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตยา ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน และมีการตรวจสอบวัตถุดิบตามมาตรฐาน จึงทำให้ยาที่ผลิตมีมาตรฐานตามไปด้วย สถานที่ผลิตยาสมุนไพรของโรงพยาบาล ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) จาก อย.ในปี 2553 และพบว่า มีการนำเภสัชตำรับยาสมุนไพรมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันจำนวน 29 รายการ ที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ การใช้ยาแก้ไอมะขามป้อม แทน M.tussis รักษาอาการไอ ขับเสมหะ ยาธาตุอบเชยใช้แทน Carminative รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ น้ำมันไพล ใช้แทน Analgesic balm รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ 2.การบริการเน้นทั้งการสร้างเสริม ป้องกัน รักษาฟื้นฟู อาทิ มารดาหลังคลอด รวมทั้งได้รับการยอมรับในการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยในการรักษาสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง การใช้องค์ความรู้แบบองค์รวมทางการแพทย์แผนไทยจึงทำให้คุณภาพของผู้ป่วยดีขึ้น และได้ผลดี จนได้รับการยอมรับในชุมชน นอกจากนี้ มีการพัฒนาเครือข่ายชุมชน ยังเป็นผลงานเด่น ในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative Care เกิดความเข้มแข็ง และยั่งยืน 3.การพัฒนา มีการศึกษา วิจัยและพัฒนา สมุนไพรในพื้นถิ่นหลายตัวที่โดดเด่นและได้รับรางวัล ได้แก่ “เจลว่านพระฉิม” ซึ่งได้พัฒนาเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ นำมาใช้ในผู้ป่วยแผลกดทับ แผลเบาหวาน และใช้ห้ามเลือดได้ จนกระทั่งปี 2559 ได้รับรางวัลการบริการภาครัฐแห่งชาติ “นวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดี” ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย 322,800 บาท/ปี