รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 มกราคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ติดตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 39,984 ล้าน ลบ.ม. (69%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 32,368 ล้าน ลบ.ม. (68%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,465 ล้าน ลบ.ม. (88%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,150 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,563 ล้าน ลบ.ม. (69%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 32,101 ล้าน ลบ.ม. (68%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,869 ล้าน ลบ.ม. (27%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,249 ล้าน ลบ.ม. (26%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ปัญหาคุณภาพน้ำ และความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ จ.สมุทรสงครามและสมุทรสาคร โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหิน จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญในการใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และให้ สทนช. ประสานและบูรณาการขับเคลื่อนแผนหลักการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว ทั้งในเรื่องความต้องการใช้น้ำ ปัญหาคุณภาพน้ำและการป้องกันอุทกภัย รวมถึงให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองอ้อมตัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในมิติต่างๆ ให้มีความยั่งยืนต่อไป