สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 ม.ค. 66

บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก มีฝนเล็กน้อย ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และหนักมากบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.ปัตตานี (307 มม.) จ.ยะลา (231มม.) และจ.สงขลา (214มม.)

น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 40,647 ล้าน ลบ.ม. (70%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 32,952 ล้าน ลบ.ม. (69%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 6 – 11 ม.ค. 66 ดังนี้

1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

3. เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาส

กอนช. ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 เห็นชอบ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 ผ่านการขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ตาก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ สุพรรณบุรี นครปฐม ชลบุรี และตรัง) ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อพิจารณาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 66

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.บางกระทุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก และโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม. (ปริมาณน้ำต้นทุน 43,740 ล้าน ลบ.ม.) แบ่งเป็นอุปโภค-บริโภค 2,535 ล้าน ลบ.ม. ระบบนิเวศ 8,270 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 16,330 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 550 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 10.42 ล้านไร่