ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเข้าพบ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นตัวแทนกระทรวงคมนาคมในการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมคุณธรรมและ ความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชน ภายใต้โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment of Government Contractors : ITAGC) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

โดยมีผู้แทนจาก กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เข้าร่วมหารือ ในวันที่ 6 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุม กระทรวงคมนาคม

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติในการประชุมครั้งที่ 133/2565 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบกรอบและเกณฑ์การประเมิน ITAGC ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และเห็นชอบให้ดำเนินการประเมินภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ตามแผนงานที่มีวงเงินงบประมาณสูงและมีผลต่อประชาชนในวงกว้าง

โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานเอกชน ที่เป็นคู่ค้ากับหน่วยงานภาครัฐ ตามแผนบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมมีคู่ค้าคู่สัญญาทั้งสิ้น 96 ราย มูลค่ารวม 110,061 ล้านบาท แบ่งเป็น ทล. 34 ราย 46 โครงการ มูลค่ารวม 70,428 ล้านบาท ทช. 58 ราย 67 โครงการ มูลค่ารวม 11,847 ล้านบาท และ กทพ. 4 ราย 4 โครงการ มูลค่ารวม 27,785 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการประเมิน ITAGC ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้มีการนำเครื่องมือมาใช้ทำการประเมิน 4 เครื่องมือ ได้แก่

1) แบบวัดความรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน ITAGC INTERNAL (ITAGC-I) สำหรับภาคเอกชน

2) แบบวัดความรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ITAGC EXTERNAL 1 (ITAGC-E1) สำหรับภาครัฐที่เป็นคู่ค้าสัญญา

3) แบบวัดความรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ITAGC EXTERNAL 2 (ITAGC-E2) สำหรับหน่วยตรวจสอบ

4) แบบตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ITAGC OPEN DATA (ITAGC-O) สำหรับภาคเอกชน โดยแบ่งช่วงการประเมินออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

– ช่วงที่ 1 ช่วงเตรียมการประเมิน (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2566) เป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อม การบันทึกข้อมูลพื้นฐาน การนำเข้าข้อมูลคู่ค้าสัญญาของหน่วยงาน และประชุมแนวทางการสอบทาน

– ช่วงที่ 2 ช่วงการประเมิน (ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2566) เป็นขั้นตอนการเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในและภายนอก และการเก็บข้อมูลแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ

– ช่วงที่ 3 ช่วงสรุปผลการประเมิน (ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2566) เป็นขั้นตอนการตรวจและการให้ข้อสังเกต กระบวนการอุทธรณ์ การสรุปและจัดทำรายงานผลการประเมิน และการประกาศและเผยแพร่ผลการประเมิน

รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ และพร้อมดำเนินงานร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนให้เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบการเป็นคู่ค้าคู่สัญญาภาครัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นฐานในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ซึ่งผลการประเมินที่ได้จะช่วยให้หน่วยงานภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันการประเมิน ITAGC ยังเป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานภาคเอกชนด้วย

ดังนั้น การประเมิน ITAGC จึงไม่ได้เป็นเพียงการประเมินคุณธรรมการดำเนินงานการป้องกันการทุจริตในองค์กรและการเปิดเผยข้อมูลภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานเพื่อให้องค์กรธุรกิจได้ทราบถึงช่องว่างของความไม่เป็นธรรม สำหรับนำไปจัดทำแนวทางมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป